วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องประชุมประธานรัฐสภา ชั้น ๓ อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร บันทึกวีดิทัศน์ เนื่องในโอกาส ๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทยในสหภาพรัฐสภา หรือ IPU โดยมี นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดร.วิวัฒน์ มุ่งการดี ที่ปรึกษา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการประธานสภาผู้แทน ราษฎร ร่วมในการดังกล่าว โดยนายชวน หลีกภัย กล่าวว่า ในปัจจุบันที่ทุกประเทศกำลังเผชิญกับความท้าทาย อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจากการระบาดของโควิด-๑๙ ทำให้กิจกรรมและการดำเนินงานของ IPU มิได้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ รัฐสภาไทยจึงได้ปรับการดำเนินงานให้เข้ากับวิถีใหม่ และ IPU ก็ยังคงใช้ความพยายามให้มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อสานต่อความร่วมมือและเสริมสร้าง เอกภาพของรัฐสภาทั่วโลกในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ ซึ่งรวมไปถึงการประชุมและ กิจกรรมเสมือนจริงต่าง ๆ ผ่านสื่อออนไลน์ ในส่วนของวาระ ๒๐๓๐ ของโลกว่าด้วยการพัฒนา อย่างยั่งยืนนั้น ขอยืนยันอย่างมั่นคงต่อพันธกิจของประเทศไทยที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย แห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในช่วง ๑๐ ปีข้างหน้า โดยเชื่อว่ารัฐสภาสามารถ มีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ ซึ่งบทบาทของรัฐสภาในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติในเรื่องนี้มี ๓ ประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก แก้ไขกฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่เพื่อให้เอื้อต่อการ บรรลุเป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประการที่สอง ให้หลักประกันโดยอำนาจด้านงบประมาณ ของรัฐสภาว่า งบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจะสอดคล้องกับการดำเนินงานตามเป้าหมายแห่ง การพัฒนาอย่างยั่งยืนอย่างแท้จริง และประการที่สาม สร้างความตระหนักรู้ในความสำคัญของ เป้าหมายแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่บรรดาสมาชิกรัฐสภา เพราะสมาชิกรัฐสภายังมีความสนใจ น้อยมากต่อการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เป็นวาระของโลกเหล่านี้ ในระหว่างการประชุม ประธานรัฐสภาโลก ครั้งที่ ๕ ภาคออนไลน์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ ผู้นำเสนอรายงานร่วมกับประธานรัฐสภานอร์เวย์เกี่ยวกับบทบาทของรัฐสภาในการผลักดัน การดำเนินงานอย่างจริงจังในทุกระดับ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี ๒๕๗๓ นอกจากนี้ เวทีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสหภาพรัฐสภาที่จัดขึ้นปีละ ๒ ครั้ง และ มีผู้นำระดับสูงของรัฐสภานับร้อยประเทศเดินทางมาเข้าร่วม เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐสภาไทยจะใช้ การทูตรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการสานเสวนาและขยายเครือข่ายปฏิสัมพันธ์กับมิตรประเทศ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและเติมเต็มช่องว่างในเวทีความร่วมมือของฝ่ายบริหารได้อย่าง มีนัยสำคัญ ประเทศไทยเป็นระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่มีปณิธานตลอดมาที่จะให้ระบบ รัฐสภาของไทยเข้มแข็ง ในโอกาสนี้จึงขอเชิญชวนให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาทุกท่านร่วมสนับสนุน กิจกรรมและการดำเนินงานของรัฐสภา โดยเฉพาะในกิจการของ IPU และเป้าหมายการพัฒนา ที่ยั่งยืน หรือ SDGs อันรวมไปถึงการพัฒนางานนิติบัญญัติ เพื่อเสริมสร้างบทบาทของรัฐสภา ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นในการเผชิญกับความท้าทายรูปแบบใหม่ ๆ ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป อย่างรวดเร็ว โดยได้ย้ำแก่สมัชชารัฐสภาอาเซียน หรือ AIPA ว่า รัฐสภาจะต้องใกล้ชิด ประชาชนอยู่เสมอ นอกจากนั้น ในระดับภูมิภาค การประสานงานของรัฐสภาจะต้องได้รับการ ยกระดับให้เข้มแข็งด้วยการเพิ่มการสื่อสารและการแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างสมาชิกรัฐสภา และการดำเนินการให้มีความสอดคล้องด้านกฎหมายของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค
|