วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๗.๕๕ นาฬิกา ณ บริเวณห้องโถง ชั้น ๑ อาคารรัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ น.ส.ศิริภา อินทวิเชียร ผู้ช่วยเลขานุการ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เยี่ยมชมบูธนิทรรศการ ๗๐ ปี แห่งสมาชิกภาพของรัฐสภาไทย ในสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union หรือ IPU) IPU เป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศที่เก่าแก่สุดในโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๔๓๒ จากความริเริ่มของฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ซึ่งในช่วงแรกของการก่อตั้งมีประเทศสมาชิก ๙ ประเทศ โดยเริ่มจากกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป มีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อส่งเสริมสันติภาพ ความร่วมมือ และ ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ รวมทั้งเป็นเวทีเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทและความขัดแย้งระหว่างประเทศ ต่อมา IPU ได้พัฒนาสู่การเป็น "เวทีการทูตรัฐสภาระดับโลก" ปัจจุบันมีประเทศสมาชิก ๑๗๙ ประเทศทั่วโลก รวมถึงสมาชิกสมทบองค์กร และองค์กรผู้สังเกตการณ์ถาวร (Permanent Observers) อีกจำนวนมาก นับเป็นองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศที่มีจำนวนประเทศสมาชิกมากที่สุดในโลก และ ในปี ๒๕๖๒ - ๒๕๖๓ เป็นปีครบรอบ ๑๓๐ ปี ของการก่อตั้ง IPU โดยรัฐสภาไทยและรัฐสภาสมาชิก ได้ร่วมเฉลิมฉลองในวาระโอกาสนี้อย่างพร้อมเพรียง สำหรับรัฐสภาไทยนั้น ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก IPU ครั้งแรก เมื่อปี ๒๔๙๓ หรือเมื่อ ๗๐ ปีที่แล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐสภาไทยได้แสดงบทบาทหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ในเวทีรัฐสภาโลก และขับเคลื่อนวาระการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของโลกอย่างแข็งขัน รวมถึงสนับสนุนทุกภาคส่วนในการ ดำเนินการตามพันธกรณีระหว่างประเทศของไทย จนเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศสมาชิก อีกทั้ง รัฐสภาไทยยังได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา (The IPU Assembly) มาแล้ว จำนวน ๓ ครั้ง คือ ในปี ๒๔๙๙ ปี ๒๕๓๐ และ ปี ๒๕๕๓ ซึ่งจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิก IPU ส่งผลให้รัฐสภาไทย ได้มีส่วนร่วมกับประเทศสมาชิกในการกำหนดท่าทีของ IPU ที่มีต่อประเด็นต่าง ๆ ที่ประชาคมระหว่างประเทศให้ความสำคัญ โดยวางอยู่บนสมดุลระหว่างมาตรฐานสากลพันธกรณี ระหว่างประเทศ และผลประโยชน์ของไทย ผ่านการผลักดันวาระและสะท้อนประเด็นที่ประเทศไทย ให้ความสำคัญในการจัดทำร่างข้อมติหรือเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมที่รับรองโดยประเทศสมาชิก อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาไทยยังได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ ใน IPU อย่างต่อเนื่อง ในการนี้ นอกจากจะเสริมเกียรติภูมิและยกระดับสถานะของรัฐสภาไทยในเวทีโลกแล้ว ยังเป็นโอกาส ที่ไทยจะร่วมกำหนดวาระและทิศทางการดำเนินงานของ IPU ด้วย โดยผู้แทนรัฐสภาไทยจะนำข้อมูล ที่ได้รับจากการประชุมมาผลักดันต่อภายในประเทศ และเป็นโอกาสในการใช้การทูตรัฐสภา (Parliamentary Diplomacy) เป็นเครื่องมือในการขยายเครือข่ายและกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี เพื่อ ขยายผลของการประชุมไปสู่การดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารต่อไป
|