ค้นหาข่าวจัดซื้อจัดจ้าง
ค้นหา


แบบฟอร์มขอข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต
แบบรับฟังความคิดเห็น
 
 
วีดีทัศน์แนะนำสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ดาวน์โหลดไฟล์วิดีทัศน์
ค้นหาในศูนย์ข้อมูลข่าวสาร
หน้า 2


หลังจากได้มีการก่อสร้างอาคารที่ทำการของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาแล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ จึงได้มีพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา ขึ้นบังคับใช้เป็นการเฉพาะสำหรับข้าราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา อันเป็นผลให้ข้าราชการในสังกัดสำนักงานเลขาธิการรัฐสภา ซึ่งแต่เดิมเป็นข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน มีฐานะเปลี่ยนไปเป็นข้าราชการรัฐสภาสามัญ โดยพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งได้ตราขึ้นใหม่นี้ ได้มีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาไว้ ให้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการประจำทั่วไปของรัฐสภา และรักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณของรัฐสภา โดยมีเลขาธิการรัฐสภาเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการขึ้นตรงต่อประธานรัฐสภา 
         
            ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และพระราชบัญญัติจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยสาระสำคัญของกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา และกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบปฏิบัติราชการฝ่ายรัฐสภา ที่ได้มีการปรับปรุงใหม่นั้น ได้กำหนดให้มีส่วนราชการสังกัดรัฐสภา คือ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น โดยมีฐานะเทียบเท่ากรม และเป็นนิติบุคคล สำหรับส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่น หากจะจัดตั้งขึ้นต้องทำเป็นพระราชบัญญัติ สำหรับการแบ่งส่วนราชการภายในเป็นกอง หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากองในสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้ทำเป็นประกาศรัฐสภา 

           ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นต้นมา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการภายในขึ้นหลายครั้ง เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความคล่องตัว สามารถรองรับการปฏิบัติงานของสมาชิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้

           ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีประกาศรัฐสภา ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๕ แบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรออกเป็น ๑๑ หน่วยงาน คือ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร กองกลาง กองคลังและพัสดุ กองสถานที่ กองการพิมพ์ กองการประชาสัมพันธ์ กองวิเทศสัมพันธ์ กองการประชุม กองกรรมาธิการ ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด สำนักบริการข้อมูลและกฎหมาย ( ภายในสำนักบริการข้อมูลและกฎหมาย แบ่งเป็นหอสมุดรัฐสภา ศูนย์บริการทางข้อมูลและกฎหมาย และศูนย์คอมพิวเตอร์ ) โดยประกาศในกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๙ ตอนที่ ๙๓ ก วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๕ 
         
            ปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ได้มีประกาศรัฐสภา เรื่อง แบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๓๖ ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๖ ให้เพิ่มหน่วยงานในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรขึ้นอีก ๑ หน่วยงาน คือ สำนักงานเลขานุการ ก.ร. โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนพิเศษ ๑ ง วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๓๗ 
        
             ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ได้มีประกาศรัฐสภาแบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ขึ้น ๒ ฉบับ คือ ( ฉบับที่ ๓ ) พ.ศ. ๒๕๓๗ ลงวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๗ ให้ยุบสำนักบริการข้อมูลและกฎหมาย และให้คงส่วนราชการในสำนักบริการข้อมูลและกฎหมายไว้ตามเดิม คือ หอสมุดรัฐสภา ศูนย์บริการวิชาการและกฎหมาย ศูนย์คอมพิวเตอร์ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๑ ตอนพิเศษ ๑๙ ง วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๓๗ และ ( ฉบับที่ ๔ ) พ.ศ. ๒๕๓๗ ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๗ ให้ยุบกองวิเทศสัมพันธ์ โดยกำหนดใหม่เป็น กององค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ และกองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุบกองกรรมาธิการ โดยกำหนดใหม่เป็น กองกรรมาธิการ ๑ และ กองกรรมาธิการ ๒ และเพิ่มสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๑๑ ตอนที่ ๑๐๔ วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๗ 
        
             ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้มีประกาศรัฐสภา ( ฉบับที่ ๕ ) พ.ศ. ๒๕๓๘ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๓๗ เพิ่มหน่วยงานสถาบันพระปกเกล้าขึ้นอีก ๑ หน่วยงาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๒ ตอนที่ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๘ ต่อมาในปีเดียวกันได้มีประกาศรัฐสภา ลงวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๘ ยกเลิกประกาศรัฐสภา เรื่อง แบ่งส่วนราชการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทั้ง ๕ ฉบับข้างต้น โดยประกาศฉบับดังกล่าว ให้แบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกเป็น ๑๘ หน่วยงาน คือ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขานุการ ก.ร. กองกลาง กองคลังและพัสดุ กองสถานที่ กองการพิมพ์ กองการประชาสัมพันธ์ กององค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ กองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กองการประชุม กองกรรมาธิการ ๑ กองกรรมาธิการ ๒ ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด ห้องสมุดรัฐสภา ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย ศูนย์คอมพิวเตอร์ สถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา และสถาบันพระปกเกล้า โดยประกาศ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒ ตอนพิเศษ ๑๙ ง วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๓๘

           ในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีประกาศรัฐสภา ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ให้ยกเลิก ประกาศรัฐสภา เรื่อง การแบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้แบ่งส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกเป็น ๑๗ หน่วยงาน คือ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขานุการ ก.ร. กองกลาง กองคลังและพัสดุ กองสถานที่ กองการพิมพ์ กองการประชาสัมพันธ์ กององค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ กองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กองการประชุม กองกรรมาธิการ ๑ กองกรรมาธิการ ๒ ศูนย์ชวเลขและพิมพ์ดีด ศูนย์บริการทางวิชาการและกฎหมาย ศูนย์คอมพิวเตอร์ สถานีวิทยุกระจายเสียง และหอสมุดรัฐสภา

           ในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้มีประกาศรัฐสภา ลงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๔๕ ให้แบ่ง ส่วนราชการภายในสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ออกเป็น ๑๙ สำนัก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๙ ตอนที่ ๖๐ ง ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๕ ดังนี้ 
          ๑. สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร
          ๒. สำนักงานเลขานุการ ก.ร. 
          ๓. สำนักงานบริหารงานกลาง 
          ๔. สำนักงานพัฒนาบุคลากร 
          ๕. สำนักการคลังและงบประมาณ 
          ๖. สำนักการพิมพ์ 
          ๗. สำนักรักษาความปลอดภัย 
          ๘. สำนักงานประชาสัมพันธ์ 
          ๙. สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 
          ๑๐. สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ 
          ๑๑. สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
          ๑๒. สำนักวิชาการ 
          ๑๓. สำนักสารสนเทศ 
          ๑๔. สำการประชุม 
          ๑๕. สำนักกฎหมาย 
          ๑๖. สำนักรายงานการประชุมและชวเลข 
          ๑๗. สำนักกรรมาธิการ ๑ 
          ๑๘. สำนักกรรมาธิการ ๒ 
          ๑๙. สำนักกรรมาธิการ ๓
          ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้มีประกาศรัฐสภา ( ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้เพิ่มสำนักภาษาต่างประเทศขึ้นอีก ๑ หน่วยงาน เป็นหน่วยงานลำดับที่ ๒๐ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๐ ตอนพิเศษ ๖๘ ง ลงวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ ปัจจุบันสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จึงแบ่งส่วนราชการภายในออกเป็น ๒๐ สำนัก ๔ กลุ่มงาน ดังนี้ 
          ๑. สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร 
          ๒. สำนักงานเลขานุการ ก.ร. 
          ๓. สำนักบริหารงานกลาง 
          ๔. สำนักพัฒนาบุคลากร 
          ๕. สำนักการคลังและงบประมาณ 
          ๖. สำนักการพิมพ์ 
          ๗. สำนักรักษาความปลอดภัย 
          ๘. สำนักประชาสัมพันธ์ 
          ๙. สถานีวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา 
          ๑๐. สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ 
          ๑๑. สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ 
          ๑๒. สำนักวิชาการ
          ๑๓. สำนักสารสนเทศ 
          ๑๔. สำนักการประชุม 
          ๑๕. สำนักกฎหมาย 
          ๑๖. สำนักรายงานการประชุมและชวเลข 
          ๑๗. สำนักกรรมาธิการ ๑ 
          ๑๘. สำนักกรรมาธิการ ๒ 
          ๑๙. สำนักกรรมาธิการ ๓ 
          ๒๐. สำนักภาษาต่างประเทศ 
          ๒๑. กลุ่มงานผู้นำฝ่ายค้าน 
          ๒๒. กลุ่มงานนโยบายและแผน 
          ๒๓. กลุ่มงานตรวจสอบภายใน 
          ๒๔. กลุ่มช่วยอำนวยการนักบริหาร 

©2007 ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร
ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
http://www.parliament.go.th/gennews