ทส.แจงนโยบายทวงคืนผืนป่าดำเนินการแค่นายทุน-ผู้มีอิทธิพล ผ่อนผันคนจนไร้ที่ทำกิน
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Saturday, August 11, 2018 14:22
นายประลอง ดำรงค์ไทย ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ชี้แจงกรณีข้อวิจารณ์ที่ระบุรัฐบาลประกาศนโยบายสำคัญช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่นโยบายทวงคืนผืนป่ากลับสร้างผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยผู้ไร้ที่ดินทำกิน ไร้ที่อยู่อาศัยว่า จากข้อมูลปี 2519 -2557 เนื้อที่ป่าถูกทำลายปีละเฉลี่ย 1 ล้านไร่ จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้ความสำคัญของการแก้ปัญหาป่าถูกทำลาย โดยมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านป้องกันและปราบปรามทรัพยากรป่าไม้ ดำเนินมาตรการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยให้ผ่อนผัน "ชาวบ้านผู้ยากไร้/ไร้ที่ทำกิน" สามารถอยู่อาศัยในเขตป่าและทำกินได้ต่อไปได้โดยไม่มีผลกระทบ แต่ในทางตรงข้ามรัฐจะทวงคืนผืนป่าและการบังคับใช้กฎหมายและดำเนินคดีต่อ "กลุ่มนายทุน" ในรูปแบบต่างๆ เท่านั้น
นายประลอง กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาจะพบว่าในช่วงเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน แผนงานตามนโยบายของรัฐบาลสามารถหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่าให้คงที่ได้ที่ 102 ล้านไร่ (พื้นที่ป่าคงที่ในช่วง พ.ศ. 2557-2560) โดยไม่มีการถูกบุกรุก ทั้งนี้ พื้นที่ที่ได้จากการทวงคืนจากกลุ่มทุน รัฐบาลโดย ทส.จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาฟื้นฟูสภาพป่าหรือพื้นที่ไหนที่เหมาะสมก็จะนำมาดำเนินการจัดที่ทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในรูปแบบแปลงรวม (คทช.) เพื่อเป็นการจัดพื้นที่ให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ให้สามารถดำรงชีพทำกิน อยู่อาศัยได้ในเขตป่าไม้อย่างปกติสุข เพื่อความยั่งยืนของระบบนิเวศป่าไม้ เศรษฐกิจ และสังคม
ทั้งนี้ แนวทางการปฏิบัติของคณะเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มนายทุนๆ จะมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานเพื่อคัดกรองกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เพื่อให้มั่นใจว่ากลุ่มที่บังคับใช้กฎหมายในการทวงคืนเป็นกลุ่มนายทุนเท่านั้น ซึ่งแผนงานการบังคับใช้กฎหมายต่อกลุ่มทุนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการต่อไป
นายประลอง กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีกลุ่มผู้เดือดร้อนออกมาร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามแผนงานทวงคืนของภาครัฐนั้น รัฐบาลได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงได้บูรณาการดำเนินการตั้งคณะทำงานขึ้นหลายชุด เพื่อติดตามรวบรวมแก้ไขปัญหาทั่วประเทศ ได้แก่ 1.การแก้ไขปัญหาพื้นที่โฉนดชุมชน จำนวน 30 พื้นที่ทั่วประเทศ 2.พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผนงานการทวงคืนผืนป่าในความรับผิดชอบของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 18 กรณีทั่วประเทศ 3. การแก้ไขปัญหาชุมชนชาวเล 4.การแก้ไขปัญหาพื้นที่เตรียมประกาศ อุทยานแห่งชาติ 4 แห่ง 5.การแก้ไขเยี่ยวยาราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการทวงคืน 3 กรณี และ 6.เรื่องการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติมจากการร้องเรียนใหม่ จำนวน 8 กรณีทั่วประเทศ
"นอกจากนี้ ทส. ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า (ศปก.พป.) เพื่อบูรณาการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมของกระทรวงฯ ลงพื้นที่เพื่อพบปะประชาชนผู้เดือดร้อน และบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่เดือดร้อนทั่วประเทศตลอดมา และยังเปิดช่องทางให้ภาคประชาชนได้แจ้งร้องเรียนความเดือดร้อน หรือแจ้งเบาะแสการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง ได้ที่สายด่วน 1362 หรือร้องเรียนถึงนายอรรถพล เจริญชันษา รองอธิบดีกรมป่าไม้ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์ป่า ได้โดยตรง" นายประลอง กล่าว
ที่มา: http://www.naewna.com