ผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรนูญฉบับใหม่ ยึดหลักความเป็นกัลยาณมิตร มีธรรมาภิบาลและนิติธรรม ขณะที่ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุรัฐธรรมนูญปี 60 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการให้ชัดเจนขึ้น
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)
Wednesday, April 25, 2018 10:50
33600 XTHAI XPOL XGOV XDEFEN POL V%WIREL P%PRD
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ย้ำการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรนูญฉบับใหม่ ยึดหลักความเป็นกัลยาณมิตร มีธรรมาภิบาลและนิติธรรม ขณะที่ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุรัฐธรรมนูญปี 60 ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการให้ชัดเจนขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดสัมมนา ผู้ตรวจการแผ่นดิน : บทบาทใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนจากทุกภาคส่วนกว่า 700 คน เข้าร่วมงาน โดย พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับ ทั้งในระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่น ซึ่งการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นยึดหลัก ความเป็นกัลยาณมิตร อีกทั้งการทำหน้าที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญกำหนด คือการทำตามหลักธรรมาภิบาลและหลักนิติธรรม แก้ไขปัญหาความเดือนประชาชนโดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย พัฒนาการให้บริการคุณภาพของภาครัฐ ทำหน้าที่ด้วยความเป็นอิสระและเป็นธรรม
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวว่า เมื่อเริ่มมีกฎหมายผู้ตรวจการแผ่นดินในปี 2540 เริ่มมีอำนาจหน้าที่สอบสวนไต่สวน รวมถึงให้อำนาจในการพิจารณาสอบสวนหาข้อเท็จจริงเมื่อเกิดความเดือนร้อน และการทำงานจะเกิดขึ้นเฉพาะต่อเมื่อมีประชาชนมาร้องเรียน สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานต้องนั่งรอ จึงไม่ใช่ลักษณะที่จะทำ ดังนั้นในรัฐธรรมนูญปี 60 จึงได้มีบทบัญญัติเปลี่ยนไปจากเดิม โดยกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแต่ละคน แต่ในการทำหน้าที่และใช้อำนาจนั้นต้องมีการปรึกษาหารือกัน รวมทั้งออกกฎหมายให้การทำงานเป็นไปอย่างอิสระ ขณะเดียวกัน ยังมุ่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยมองในภาพรวมมากกว่าเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการทำงาน นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญปี 60 ยังกำหนดหมวดหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้บัญญัติขึ้นมาใหม่ เป็นการกำหนดให้รัฐจะต้องดำเนินการเรื่องต่างๆ ให้กับประชาชน เห็นว่าผู้ตรวจการแผ่นดินเหมาะสมที่เข้าไปดูแลกระตุ้นให้หน่วยงานของรัฐทำหน้าที่นั้น เพราะหากไม่แก้ระบบการทำงานของภาครัฐหรือราชการ ก็ไม่สามารถเดินหน้าปฏิรูปประเทศไปสู่ 4.0 ได้
ที่มา: www.thainews.prd.go.th