กระทรวงแรงงานแจงแนวปฏิบัติจ้างต่างด้าว กำชับ จนท. อำนวยความสะดวก ย้ำทุจริตมีโทษเด็ดขาด
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)
Thursday, July 20, 2017 06:31
23806 XTHAI XETHIC XGOV SOC V%WIREL P%PRD
รองนายกฯ ประวิตร นั่งหัวโต๊ะถกประชุม คกก.กพร.ปช. มติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานสาขาอุตสาหกรรมบริการสุขภาพและอาหาร พัฒนากำลังคนสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้าน รมว.แรงงาน แจงขั้นตอนดำเนินการจ้างต่างด้าวในระยะผ่อนผัน กำชับ จนท.อำนวยความสะดวกผู้มารับบริการ ย้ำ หากพบเรียกรับผลประโยชน์มีโทษขั้นเด็ดขาด
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ กพร.ปช. ครั้งที่ 1/2560 ณ ห้องประชุม ศ.นิคม จันทรวิทุร ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมี พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานใน 2 สาขา คือ 1) สาขาอุตสาหกรรมบริการสุขภาพ (พ.ศ.2561-2565) ที่มีความต้องการกำลังแรงงานใน 5 ปี จำนวน 56,500 คน แบ่งเป็นภาคการผลิตโดยกระทรวงศึกษาธิการ 28,500 คน และการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกระทรวงแรงงานจำนวน 28,000 คน บุคลากรในส่วนนี้จะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 45,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังยกระดับสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำหรับอุตสาหกรรมบริการสุขภาพโดยจัดตั้งขึ้นที่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ จะสามารถผลิตบุคลากรได้ปีละ 3,000 คน และระยะต่อไปจะขยายเพิ่มเติมอีก 18 แห่ง 2) สาขาอุตสาหกรรมอาหาร (พ.ศ.2561 -2565) ที่มีความต้องการแรงงานทั้งภาคการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานจำนวน 130,000 คน ซึ่งการพัฒนาฝีมือแรงงานในสาขานี้จะให้ความสำคัญกับการผลิตนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และช่างเทคนิค รวมทั้งสิ้นในระยะ 5 ปีจำนวน 9,600 คน และเน้นพัฒนาบุคลากรเอสเอ็มอี จำนวน 45,000 คน รวมทั้งพัฒนาฝีมือภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานอีกจำนวน 72,000 คน
ภายหลังการประชุมฯ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการตาม พ.รก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 และการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช.ที่ 33/2560 ว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการมาโดยลำดับ ซึ่งได้ประกาศหลักเกณฑ์ออกมารองรับ โดยแรงงานต่างด้าวทำงานไม่ตรงนายจ้างสามารถขอเปลี่ยนนายจ้างได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือไม่มีเอกสารใดๆ นายจ้างหรือผู้แทนสามารถมายื่นคำขอจ้างได้ที่ศูนย์รับแจ้งการทำงานของคนต่างด้าว ระหว่างวันที่ 24 ก.ค. - 7 ส.ค.60 โดยสามารถดาวน์โหลดแบบคำขอจ้างคนต่างด้าวผ่านอินเทอร์เน็ตได้ที่ www.doe.go.thจากนั้นภายใน 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 8 ส.ค. - 6 ก.ย.60 นายจ้างจะต้องนำแรงงานต่างด้าวมาตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ความเป็นนายจ้างลูกจ้าง ซึ่งกระทรวงแรงงานจะออกเอกสารรับรองเพื่อนำไปทำเอกสารรับรองบุคคล (CI) ที่ประเทศต้นทาง โดยแรงงานสัญชาติเมียนมาและกัมพูชาจะเข้าสู่ขั้นตอนการตรวจสัญชาติ ตรวจลงตรา (Visa) ตรวจและทำประกันสุขภาพ พร้อมออกใบอนุญาตทำงานให้โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ศูนย์วันสต็อปเซอร์วิส ส่วนแรงงานสัญชาติลาวจะต้องไปที่ สอท.ลาวประจำประเทศไทย เพื่อขอเอกสารกลับประเทศไปทำหนังสือเดินทาง แล้วจึงกลับเข้ามาดำเนินตามขั้นตอนต่างๆ เช่นเดียวกับเมียนมาและกัมพูชา ทั้งนี้การดำเนินการที่ศูนย์ OSS จะใช้เวลาดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 วัน
รมว.แรงงาน ยังได้กำชับให้ทุกส่วนราชการของกระทรวงแรงงานอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่เข้ามาใช้บริการ รวมทั้งยืนยันและเน้นย้ำว่าข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงจะไม่มีการแสวงหาประโยชน์จากเรื่องนี้เป็นอันขาด ซึ่งหากพบเบาะแสสามารถแจ้งผ่านทางศูนย์ปราบปรามการทุจริตของ คสช. ในหน่วยทหาร หรือ ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์กระทรวงแรงงาน โทรศัพท์ 0 2232 1467
ที่มา: www.thainews.prd.go.th