กฟน.เตือนอย่าตกเป็นเหยื่อโฆษณาออนไลน์ อ้างอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าลดค่าไฟ
Source - ศูนย์ข่าวแปซิฟิค (Th)
Friday, July 14, 2017 12:15
59332 XTHAI XETHIC V%WIREL P%PACI
การแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟที่หลอกลวงว่าประหยัดไฟ นายวิชชา ชาครพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) กล่าวว่า ขณะนี้มีการเผยแพร่ เตือนภัยเกี่ยวกับการจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าบนสื่อสังคมออนไลน์ยี่ห้อหนึ่ง โดยโฆษณาว่าสามารถช่วยลดค่าไฟลงได้กว่าร้อยละ 50 จนมีผู้ใช้ไฟฟ้าหลงเชื่อสั่งซื้อและมีผู้ตกเป็นเหยื่อ เข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจแห่งหนึ่ง ผู้เสียหายบอกว่า อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้านี้ไม่สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้จริงตามที่โฆษณาและล่าสุดยังไม่สามารถติดต่อกลับไปยังผู้จัดจำหน่ายอุปกรณ์ดังกล่าวได้ จึงออกมาเผยแพร่ข้อมูลแจ้งเตือนประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออีก อย่างไรก็ตาม การที่ค่าไฟจะลดลง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้ใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก คือ ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าเท่าที่จำเป็น และปรับตั้งค่าการทำงานให้เหมาะสม เช่น ปรับตั้งอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศไม่ควรต่ำกว่า26องศาเซลเซียส หรือหากต้องการประหยัดไฟฟ้าในระยะยาว ควรเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดฉลากประหยัดไฟเบอร์5 หรือ ใช้เครื่องปรับอากาศชนิดอินเวอร์เตอร์
ด้านนายมนัส อรุณวัฒนาพร ผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบไฟฟ้า กฟน. ยืนยันว่า อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้ามีอยู่จริงแต่ไม่ได้ใช้ในรูปแบบของครัวเรือน ส่วนใหญ่จะใช้ในรูปแบบอุตสาหกรรม แบ่งเป็น2ประเภท คือ แบบเพาเวอร์แฟคเตอร์ หรือ ตัวประกอบกำลัง และแบบเครื่องปรับลดแรงดัน ที่สามารถทำให้แรงดันไฟฟ้าลดลงได้ แต่จะใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าบางประเภทเท่านั้น เช่น หลอดไฟที่มีไส้ พัดลม เครื่องทำน้ำอุ่น ขณะเดียวกันก็จะทำให้ประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ลดลงเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีการนำอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า ที่หลอกลวงประชาชน 3ลักษณะ มาแสดงให้เห็นไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ คือ ลักษณะเป็นกล่องหรือตู้ที่มีสายไฟสำหรับเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่ภายในเป็นเพียงตัวเก็บประจุ และภายในไม่มีส่วนที่เป็นวงจรไฟฟ้าเลย มีเพียงวัสดุสำหรับถ่วงน้ำหนักบรรจุไว้เท่านั้น ลักษณะเป็นอุปกรณ์สำหรับเสียบเข้ากับเต้ารับไฟฟ้าโดยตรงและลักษณะเป็นบัตรสำหรับติดหรือแปะกับตู้จ่ายไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า นายมนัส ยังแนะนำให้สังเกตพฤติกรรมผู้จำหน่ายที่เข้าข่ายหลอกลวงว่า ให้สังเกตการอ้างคำศัพท์เทคนิคชั้นสูง หรือศัพท์เชิงวิทยาศาสตร์มาใช้ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ และการอ้างผลการทดสอบจากสถาบันต่างๆ ซึ่งอาจมีการทดสอบจริง แต่ทดสอบในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่ในเรื่องของการประหยัดพลังงาน รวมถึงการโอ้อวดสรรพคุณที่เกินจริงด้วย
ภาพ:อุปกรณ์ที่อ้างว่าลดค่าไฟได้
กรณีที่เกิดขึ้น กฟน.ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง เพราะอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าไม่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้จริง จึงขอแนะนำให้ผู้เสียหายร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และแจ้งความเอาผิดกับผู้จำหน่าย อย่างไรก็ตาม วันนี้ มีการทดสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น หลอดไฟ พัดลม พร้อมด้วยการเสียบอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าแบบเต้าเสียบ พบว่า กระแสไฟฟ้าลดลง แต่กำลังไฟฟ้ากลับเพิ่มขึ้น ซึ่งจริงแล้ว การคำนวณค่าไฟของกฟน.ไม่ได้คิดตามกระแสไฟฟ้า แต่คิดตามกำลังไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น จึงไม่สามารถทำให้ค่าไฟลดลงได้--จบ--
ที่มา: เว็บไซต์ศูนย์ข่าวแปซิฟิก