กรมการท่องเที่ยวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีเปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในประเทศไทย
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)
Tuesday, July 11, 2017 21:30
21559 XTHAI XECON ECO V%WIREL P%PRD
จากการเสนอข่าวกรณีนายจารุพล เรืองเกตุ ประธานสมาพันธ์สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย แถลงการณ์ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในประเทศไทย โดยยืนยันว่ามัคคุเทศก์ภาษาจีนกลาง สัญชาติไทย มีเพียงพอให้บริการ และขอคัดค้านการนำคนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน โดยขอให้รัฐบาลเร่งกวดขันปราบปรามบริษัทนำเที่ยวของต่างชาติ ที่นำนักท่องเที่ยวซื้อทัวร์ราคาถูกแล้วหาประโยชน์ในร้านค้าและห้างร้านของตน และขอให้มัคคุเทศก์ร่วมแก้ปัญหา
นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ชี้แจงแยกเป็นประเด็นดังนี้ ประเด็นที่ 1 สมาคมมัคคุเทศก์ และชมรมมัคคุเทศก์ทั่วประเทศ รวม 11 แห่ง ไม่เห็นด้วยกับการเปิดโอกาสให้คนต่างชาติมาทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในประเทศไทย โดยยืนยันว่ามัคคุเทศก์ภาษาจีนกลาง สัญชาติไทย มีเพียงพอให้บริการนักท่องเที่ยวชาวจีน
ปี พ.ศ. 2557 นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดระเบียบมัคคุเทศก์ ซึ่งกรมการท่องเที่ยว ได้ดำเนินการรับรายงานตัวมัคคุเทศก์เพื่อสำรวจข้อมูลสถานะปัจจุบันของมัคคุเทศก์ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 24 เมษายน 2558 มีมัคคุเทศก์มารายงานตัวทั้งสิ้น 33,003 ราย จากจำนวนทั้งสิ้น 54,378 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.69 ซึ่งในจำนวนดังกล่าวประกอบอาชีพมัคคุเทศก์เป็นอาชีพหลัก 14,736 ราย ประกอบอาชีพเป็นครั้งคราว 12,470 ราย และไม่ได้ประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ 4,867 ราย จากการรายงานตัวภาษาที่มัคคุเทศก์มารายงานตัวมากที่สุดคือ อังกฤษ (2,4870 คน) จีน (9,729 คน) ญี่ปุ่น (2,908 คน)
จากการสำรวจข้อมูลดังกล่าว จึงได้มีการวิเคราะห์และคาดการณ์จำนวนมัคคุเทศก์ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวในอีก 5 ปี ข้างหน้า โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2563 มัคคุเทศก์ภาษาจีนจะขาดแคลน 7,758 คน มาลายูจะขาดแคลน 4,011 คน รัสเซียจะขาดแคลน 1,176 คน และเกาหลีจะขาดแคลน 1,148 คน ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการวางแผนพัฒนากำลังคนและผลิตมัคคุเทศก์ภาษาดังกล่าวให้เพียงพอรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
กรมการท่องเที่ยวจึงเร่งผลิตมัคคุเทศก์ภาษาดังกล่าวโดยหารือกับสถาบันการศึกษานำผู้ที่มีความรู้ภาษา เช่น จีน รัสเซีย เกาหลี มาอบรมเป็นมัคคุเทศก์ และร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการปรับปรุงหลักสูตร 150 สถาบันการศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนวิชาการท่องเที่ยวให้เข้าสู่การเป็นมัคคุเทศก์ได้ในทันที ทั้งนี้ จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้
ทั้งนี้ ผู้ที่เป็นมัคคุเทศก์อยู่แล้วก็ได้มีการอบรมภาษาที่สามเพิ่มเติมทั้งการเรียนแบบในห้องเรียน และแบบออนไลน์ สำหรับจำนวนมัคคุเทศก์ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 มีจำนวนทั้งสิ้น 70,655 คน เป็นมัคคุเทศก์ทั่วไป (ต่างประเทศ) 46,880 คน มัคคุเทศก์เฉพาะพื้นที่ (ต่างประเทศ) 19,154 คน โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาษาอังกฤษจำนวน 54,680 คน ภาษาจีน 17,124 คน ภาษาญี่ปุ่น 3,181 คน ทั้งนี้ มัคคุเทศก์ 1 คน อาจพูดได้มากกว่า 1 ภาษา ทั้งนี้ ภาษาที่มีมัคคุเทศก์ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยว ได้แก่ รัสเซียมีมัคคุเทศก์ 342 คน สวีเดน 34 คน เดนมาร์ก 6 คน โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬายืนยันว่า ยังมิได้มีการดำเนินการอนุญาตให้คนสัญชาติอื่นมาเป็นมัคคุเทศก์ หรือ ผู้ประสานงานเพิ่มเติมแต่อย่างใด ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬากำหนดจัดประชุมหารือระหว่างผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ในวันที่ 12 กรกฎาคม 2560
ประเด็นที่ 2 ขอคัดค้านการนำคนต่างด้าวเข้ามาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน เนื่องจากมองว่าไม่สามารถแก้ปัญหาขาดแคลนมัคคุเทศก์ได้
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ชี้แจงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายเปิดเสรีอาชีพมัคคุเทศก์ ปัจจุบัน พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559 กำหนดให้มัคคุเทศก์ต้องมีสัญญาติไทยและธุรกิจนำเที่ยวจะต้องมีสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยร้อยละ 51 และผู้มีอำนาจลงนามจะต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยได้มีการตั้งคณะทำงานกลั่นกรองและตรวจสอบคุณสมบัติร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก่อนจะอนุญาตให้จดทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งคณะทำงานประกอบด้วย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ
กรณีผู้ประสานงานการท่องเที่ยวต่างชาติ (ล่าม) สืบเนื่องจากเดือนมีนาคม 2559 นายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการจัดระเบียบคนต่างด้าวที่เข้ามาในไทยอย่างเป็นระบบ โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับการร้องขอจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทยให้นำร่องกลุ่มผู้ประสานงานเกาหลีซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามแปลก่อนเป็นกลุ่มแรก จำนวน 50 คน ซึ่งได้มีการจัดอบรมบทบาทหน้าที่และทัศนคติที่มีต่อประเทศไทย โดยผู้ผ่านการอบรมจะต้องขอใบอนุญาตทำงานจากกระทรวงแรงงาน และมีข้อกำหนดให้ทำงานควบคู่กับมัคคุเทศก์คนไทย (ภาษาอังกฤษ) ผ่านบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น ทั้งนี้ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ได้อบรมภาษาและวัฒนธรรมเกาหลีให้กับมัคคุเทศก์คนไทยไปพร้อมๆกันด้วย โดยผู้ประสานงานกลุ่มดังกล่าวใบอนุญาตทำงานจะครบกำหนด 1 ปี ในเดือนกรกฎาคมนี้ และในขณะนี้ยังไม่มีนโยบายจะต่ออายุผู้ประสานงานดังกล่าวแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 3 ขอให้รัฐบาลเร่งกวดขันปราบปรามบริษัทนำเที่ยวของต่างชาติ ที่นำนักท่องเที่ยวซื้อทัวร์ราคาถูกแล้วหาประโยชน์ในร้านค้าและห้างร้านของตนนั้น
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ชี้แจงว่า ปัจจุบัน กรมการท่องเที่ยวร่วมกับกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวดำเนินการออกตรวจและดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ทั่วประเทศ พบการกระทำผิดจะดำเนินคดีตามกฎหมายทุกราย มาตรการในการตรวจสอบคือ มัคคุเทศก์จะต้องแต่งกายสุภาพ ติดใบอนุญาตมัคคุเทศก์ตลอดระยะเวลาและมีใบสั่งงาน (Job order) ติดตัวไปด้วย และหากนักท่องเที่ยวไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือถูกบังคับซื้อสินค้าและบริการ สามารถแจ้งตำรวจท่องเที่ยวที่ 1155 หรือ สายด่วนกรมการท่องเที่ยว 02-401-1111 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยังได้ดำเนินการเข้าตรวจสอบการอบรมในลักษณะการขายสิ่งของและให้ข้อมูลที่อาจส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภาพรวมร่วมกับ สคบ. อย. และหน่วยงานอื่น ๆ นอกจากนี้ ได้ดำเนินการลงนามข้อตกลงร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติจีน (CNTA) ในการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้มีการแลกเปลี่ยนรายชื่อและข้อมูลบริษัทที่ถูกเพิกถอนเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมาย (Black list) และบริษัทที่จดทะเบียนถูกต้องเพื่อเป็นคู่ค้าระหว่างกันอีกด้วย
ประเด็นที่ 4 ต้องมีการปฏิรูปการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานการท่องเที่ยวให้มีความรู้ในเรื่องการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ชี้แจงว่า สำหรับการพัฒนาและบูรณาการของเจ้าหน้าที่ภาครัฐของกรมการท่องเที่ยวตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ได้มีการบูรณาการความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวร่วมกับภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันเจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวมีความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวพอสมควร โดยมีข้าราชการ พนักงานราชการ ที่จบการศึกษาด้านการท่องเที่ยว Tourism & Hospitality ทั้งปริญญาตรีและปริญญาโทเพิ่มขึ้น โดยได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ไปรับการอบรมในเรื่องดังกล่าวทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
ประเด็นที่ 5 การแก้ปัญหามัคคุเทศก์ควรให้มัคคุเทศก์เป็นฝ่ายร่วมแก้ปัญหาเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ตรงจุด
อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ชี้แจงว่า ในคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์มีผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจำนวน 5 คน โดยกำหนดให้เป็นผู้แทนจากมัคคุเทศก์ 2 คน ส่วนคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์แต่งตั้งก็มีผู้แทนจากสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เป็นอนุกรรมการในหลายคณะ เช่น คณะอนุกรรมการพิจาณาหลักสูตรมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว การอบรม และทดสอบความรู้ความสามารถในการเป็นมัคคุเทศก์, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยว, คณะอนุกรรมการยกร่างอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551, คณะอนุกรรมการกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนตามพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551, คณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนและอุทธรณ์, คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาหารประกอบธุรกิจนำเที่ยวและนักท่องเที่ยวที่ถูกหลอกลวง, คณะทำงานการบริหารจัดการการแก้ไขปัญหาการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น
ที่มา: www.thainews.prd.go.th