ยธ.หาช่องเยียวยาแจ้งสิทธิ'น้องบีม'สู้คดี'ทนาย'ฉ้อโกง
Source - มติชน (Th)
Saturday, July 01, 2017 02:47
2325 XTHAI XOTHER XFRONT DAS V%PAPERL P%MTCD
รมว.ยุติธรรมกำชับเร่งดูแล 'น้องบีม' ถูกทนายความยักยอกค่า สินไหม อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯลงเยี่ยม แจ้งสิทธิให้ความช่วยเหลือเข้าสู่ระบบกองทุนยุติธรรม
จากกรณี ด.ญ.ภัทรดา แก้วผ่อง หรือน้องบีม อายุ 14 ปี นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนศรีสังวาลย์ ประสบอุบัติเหตุถูกรถพ่วง 18 ล้อชนรถกระบะ ที่พ่อคือนายอรุณรัตน์ แก้วผ่อง เป็นคนขับเสียชีวิต น.ส.พรทิพย์ จันทรัตน์ แม่ได้รับบาดเจ็บสาหัส ส่วนน้องบีมกระดูก ทับไขสันหลังกลายเป็นคนพิการต้องนั่ง วีลแชร์ ต่อมาได้รับการช่วยเหลือจากนายพิสิษฐ์ สัมมาเลิศ ทนายความอาสาช่วยดำเนินการทางคดี โดยบริษัทรถพ่วงคู่กรณีจ่ายเงินเยียวยาจำนวน 5 ล้านบาท แต่นายพิสิษฐ์กลับนำเงินมาจ่ายให้กับ น.ส.พรทิพย์ เดือนละ 40,000 หมื่นบาท เป็นเวลา 7 เดือน จากนั้นหนีหายไปและติดต่อไม่ได้
ขณะที่ครอบครัวมีความเป็นอยู่ลำบากเนื่องจากขาดหัวหน้าครอบครัว น.ส.พรทิพย์ต้องตระเวนขายของตามศาลาวัด ที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ต.บางตลาด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเองและบุตรสาว พร้อมนำเรื่องเข้าร้องเรียนต่อนายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด และพัฒนาการและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อขอความเป็นธรรม
สำหรับความคืบหน้าการช่วยเหลือ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ เดินทางลงพื้นที่ ณ บ้านผู้เสียหาย เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมแจ้งสิทธิแก่ ผู้เสียหายในคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหาย ค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2559
น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวว่า จากการสอบถามทราบว่ามารดาของน้องบีมไว้ใจทนายความคนดังกล่าว จึงมอบอำนาจให้ดำเนินการแทนทุกกรณี กระทั่งประมาณปี 2557 ศาลมีคำพิพากษาสั่งคู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายให้ 4 ล้านบาท ต่อมาทนายความแจ้งว่านายพิสิษฐ์ แบ่งชำระเป็นงวด แต่ได้รับเงินเพียง 7 งวดก็เงียบหายไป ประมาณปี 2558 จึงได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ สน.บางยี่ขัน เพื่อดำเนินคดีกับทนายความคนดังกล่าว เมื่อทนายความทราบเรื่องจึงเข้าเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อขอให้ถอนคำแจ้งความร้องทุกข์ และจะนำเงิน 1 ล้านบาท มาคืนให้ภายใน 3 วัน จึงหลงเชื่อ และถอนแจ้งความ แต่เรื่องก็เงียบหายจนถึงปัจจุบัน
"น.ส.พรทิพย์เพียงต้องการเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้องบีม เพราะเป็นเงินก้อนที่สามารถนำมาดูแลรักษาน้องบีมได้ ปัจจุบันไม่ได้ประกอบอาชีพอะไร เนื่องจากขาทั้งสองข้างใส่เหล็กดามไว้ มีอาการปวดบวมก็กินยาแก้ปวดพอให้หายไป เป็นผลมาจากอุบัติเหตุครั้งนั้น รายได้หลักมาจากเงินที่น้องบีมขายของที่วัด จึงอยากให้หน่วยงานช่วยเหลือน้องบีม" น.ส.ปิติกาญจน์กล่าว
น.ส.ปิติกาญจน์กล่าวต่อว่า เบื้องต้นกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้แจ้งสิทธิแก่มารดาของน้องบีม พร้อมแนะนำแนวทางการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ และการให้ความช่วยเหลือด้านอื่นๆ และจะมีหนังสือประสานไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และโรงพยาบาลชลประทาน เพื่อให้มารดาเข้ารับการรักษาอาการบาดเจ็บต่อไป หลังจากนี้จะขอคัดคำพิพากษาเพื่อตรวจสอบรายละเอียดคดี
ด้านนายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรมในฐานะโฆษกกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ได้รับคำร้องของผู้เสียหายเพื่อเข้าสู่ระบบการช่วยเหลือดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมเรียบร้อย หลังจากนี้จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมพิจารณารับเรื่องตามขั้นตอน โดยจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินคดี เช่น ค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าเดินทาง ส่วนเงินเยียวยาตาม พ.ร.บ.ค่าตอบแทนแก่ผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ.2544 กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถจ่ายได้ เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลสั่งให้บริษัทคู่กรณีจ่ายค่าเสียหายชดเชยไปแล้ว แต่เงินดังกล่าวถูกยักยอกและฉ้อโกงไปจากทนายความ
นายธวัชชัยกล่าวต่อว่า กระทรวงยุติธรรมประสานกับสภาทนายความเพื่อดำเนินการด้านจริยธรรมและมรรยาททนายความ และได้รายงานข้อมูลให้กับนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รับทราบแล้ว และกำชับให้กระทรวงเข้าไปดำเนินการช่วยเหลือ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อน และต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ท.ศานิตย์ มหถาวร ผบช.น. กล่าวว่า เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2549 มีขบวนการของคนที่ใช้ความรู้ด้านกฎหมายหลอกน้องบีม ในส่วนของน้องผู้เสียหายเพิ่งมารู้ว่าถูกหลอก ทุนทรัพย์ ที่จะต้องได้รับเบื้องต้นประมาณ 4 ล้านบาท แต่กลับได้ไม่ครบจำนวน จนกระทั่งผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่ สน.บางยี่ขัน ฐานฉ้อโกงและปลอมแปลงเอกสาร แต่ปรากฏว่าความ ผิดฐานปลอมแปลงเอกสารที่ไปเสนอต่อศาลเพื่อขออนุมัติออกหมายจับแล้ว แต่ศาลไม่สามารถพิจารณาออกหมายจับให้ได้ เพราะมองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปลอมแปลงเอกสารของบริษัทที่ชดใช้ค่าเสียหายให้ เป็นเรื่องที่อุปโลกน์กันเอง เหมือนการแอบอ้างแล้วเซ็นชื่อมาเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวข้องกับนิติบุคคล
พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าวต่อว่า คดีที่ต้องมาพิจารณานั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฉ้อโกง เพราะทุกพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการหลอกลวงผู้อื่นโดยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงอันควรบอกให้แจ้งโดยการหลอกลวงได้ไปซึ่งทรัพย์ ไม่รู้ว่าผู้กระทำการดังกล่าวไปเกลี้ยกล่อมผู้เสียหายอย่างไร ทางพนักงานสอบสวน สน.บางยี่ขันให้ข้อมูลว่าความผิดลักษณะดังกล่าวสามารถยอมความได้ เป็นความผิดต่อส่วนตัว ถ้าถอนแจ้งความเมื่อไหร่คดีจบทันที สุดท้ายผู้เสียหาย กลับไปหลงเชื่อก็ถอนแจ้งความ สิทธิทางคดีอาญาฟ้องระงับ ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอยู่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ตนสั่งการกำชับให้ทาง บก.น.7 แล้วว่าจะช่วยเหลือเยียวยาน้องผู้เสียหายได้มากแค่ไหน กรณีของการปกครองอยากทราบว่า ผู้มีวิชาชีพทนายความมีพฤติการณ์ลักษณะแบบนี้จะต้องสอบสวนด้านจริยธรรมจรรยาบรรณด้วยหรือไม่ เพราะเอาความรู้ทางด้านกฎหมายเพื่อเอาประโยชน์ของตนเองและเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น แทนที่จะได้เงิน 4 ล้านบาท แต่ได้เงินเพียง 2 แสนกว่าบาท ตอนหลังให้เขาไปถอนแจ้งความ ถือเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ เพราะเกิดขึ้นกับสังคมไทยอยู่บ่อยครั้ง หลายๆ เรื่องพี่น้องประชาชนอาจจะเข้าใจหรือไม่ทราบสิ่งที่เกิดขึ้น กลับถูกพวกมิจฉาชีพหลอก ทำให้เกิดความเสียหาย
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีดังกล่าวผู้เสียหาย สามารถเข้าแจ้งความใหม่ได้หรือไม่ พล.ต.ท. ศานิตย์กล่าวว่า กรณีการแจ้งความใหม่จะทำไม่ได้ เพราะกรณีดังกล่าวมีการแจ้งความไปและถอนแจ้งความไปแล้ว นอกจากต้องเกิดข้อเท็จจริงใหม่ แต่หากเป็นข้อเท็จจริงในเรื่องเดิมจะไม่สามารถแจ้งความใหม่ได้ อย่างไรก็ตามสั่งการให้ พ.ต.อ.อรรถวุฒิ นิวาตโสภณ ผกก.สน.บางยี่ขัน พยายามตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมีข้อมูลกระทำความผิดในกรรมอื่นหรือฐานอื่นๆ ถือเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะขณะที่เกิดเหตุผู้เสียหายอายุเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เรื่องผ่านมา 11 ปี เสียคุณพ่อไป แทนที่จะได้ค่าชดเชยค่าเสียหาย พวกอาสาสมัครแบบนี้น่าตกนรก 7 ขุม ส่วนสำนวนการสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวน สน.บางยี่ขันส่งสำนวนไปยังชั้นอัยการแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้อง อำนาจพนักงานสอบสวนหมดสิ้นไปนับตั้งแต่ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เว้นแต่พนักงานอัยการจะใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 ให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติมเรียกพยานมาซักถาม หรือมีหลักฐานใหม่ ถือเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน อีกครั้ง
"กรณีดังกล่าวผมต้องขอเวลาศึกษาข้อมูลโดยละเอียดก่อน เบื้องต้นข้อมูลคร่าวๆ ลักษณะแบบนี้ ต้องทำการตรวจสอบว่า ถ้ากรรมเดิมหรือข้อเท็จจริงเดิมและมีการถอนแจ้งความไปแล้วจะไม่สามารถแจ้งความใหม่ได้ แต่อาจมีกรณีอื่นๆ ไปหลอกลวงผู้อื่นอีกหลายครั้ง ต่างกรรมต่างวาระ เราสามารถจะหยิบยกมาได้ ทางตำรวจจะประสานกับทางสภาทนายความว่ากรณีของทนายความทำผิดจรรยาบรรณของทนายความจะมีมาตรการทางปกครองอย่างไร ยกตัวอย่างการถอนการอนุญาตการว่าความตลอดชีพเพื่อไม่ให้มีการ กระทำความผิดต่อไป" พล.ต.ท.ศานิตย์กล่าว
ด้านนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา เลขาธิการสภาทนายความ กล่าวว่า ตามขั้นตอนคณะกรรมการมรรยาท สภาทนายความ จะมีหนังสือแจ้ง น.ส.พรทิพย์มาให้ปากคำก่อน จะได้ส่งคำกล่าวหาไปให้นายพิสิษฐ์ คู่กรณี ว่าจะยื่นคำแก้ข้อกล่าวหามาอย่างไรภายใน 15 วันนับจากได้รับข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นเรื่องคดีมรรยาททนายความ แต่ขณะนี้สภาทนายความยังไม่สามารถติดต่อ น.ส.พรทิพย์ได้ เคยโทรศัพท์ไปตามหมายเลขโทรศัพท์ที่ได้มา พบว่า น.ส.พรทิพย์ปิดเครื่อง หาก น.ส.พรทิพย์ติดขัดในเรื่องพาหนะการเดินทางมายังสภาทนายความ จะจัดเตรียมรถตู้ไปรับเพื่อคอยอำนวยความสะดวกให้
นายสรัลชากล่าวต่อว่า ทางสภาทนาย ความไม่ได้นิ่งนอนใจเพราะเป็นเรื่องที่สังคมจับตามอง มีการทำกับคนพิการ เป็นเรื่องที่เลวร้าย แต่จะไปฟันธงเลยคงไม่ได้ ต้องขอสอบสวนก่อน เท่าที่ทราบขณะนี้มีการแจ้งความดำเนินคดีกับทนายความอาสาคนดังกล่าวในข้อหาปลอมแปลงเอกสาร
"ตอนนี้เราได้ติดต่อไปยังทนายคู่กรณีแล้ว แต่ยังติดต่อไม่ได้ ไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนเบอร์หรือไม่" นายสรัลชากล่าว--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน