บทบรรณาธิการ: เสียงเตือนเรื่องสิ่งแวดล้อม
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Monday, April 24, 2017  05:50
58192 XTHAI XOTHER XCOMMENT XECON DAS V%PAPERL P%KT

          กรณีสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เตรียมฟ้องศาลปกครองหลังได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้าน ต.น้ำพุ อ.เมือง จ.ราชบุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการกำจัดกากอุตสาหกรรม โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน กำจัดกากอุตสาหกรรม หรือสั่งปิดกิจการ รวมทั้งฟ้องร้องให้ ดำเนินคดีกับอุตสาหกรรมจ.ราชบุรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการจ.ราชบุรี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดี กรมโรงงาน ในฐานะเจ้าพนักงานที่ปล่อยให้โรงงานสร้างความเดือดร้อน และเสียหายกับชาวบ้านโดยรอบโรงงาน มานานกว่า 10 ปี โดยไม่มีหน่วยงานรัฐใดแก้ไขปัญหา
          ประเด็นการฟ้องร้องไม่ถือว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย เพียงแต่จะมีใครลุกขึ้นมาเอาเรื่องหรือไม่เท่านั้น และเป็นประเด็นปัญหาซ้ำซากในทุกพื้นที่ที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรม หากไม่กล่าวโทษ โรงงานลักลอบปล่อยของเสียลงสู่สภาพแวดล้อม ก็มักจะ กล่าวโทษเจ้าหน้าที่ปล่อยปละละเลย ซึ่งหากเรื่องเป็นข่าวขึ้นมา ก็มักจะได้รับการแก้ไขและสนใจจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ แต่เมื่อเรื่องเงียบไป ปัญหาก็จะวนเวียนกลับมาในจุดเดิม ในขณะที่สภาพแวดล้อม เสื่อมโทรมลงทุกวัน และปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในยุคที่อุตสาหกรรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ คือ ขยะอุตสาหกรรมและการปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะ
          กรณีการฟ้องร้องในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น คงต้องรอคำสั่ง ศาลปกครองออกมาว่ามีหลักฐานและมีข้อมูลน่าเชื่อถือเพียงไร แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นจริงหรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่พิสูจน์ ไม่ยาก เพราะหากเพียงส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบและสังเกตการณ์ดูเป็นระยะๆ ก็จะพบความจริงทั้งหมด แต่กรณีนี้อาจเป็นอุทาหรณ์ให้กับรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าเปลี่ยนโฉมประเทศครั้งใหญ่ด้วย การพัฒนาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะมีการขยายพื้นที่อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกเท่าตัว เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรม สมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง
          แม้ว่ารัฐบาลจะมีการตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมา เพื่อดูแลทั้งหมดในการพัฒนาอุตสาหกรรมและสภาพแวดล้อม ในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามีมาตรการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม อย่างรัดกุมเพียงพอ เพราะอย่างน้อยขณะนี้เรายังไม่เห็นรูปร่างหน้าตาของหน่วยงานที่จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องใหญ่ พอๆ กับเรื่องการส่งเสริมการค้าการลงทุน และค่อนข้างแปลก อย่างมากหากเราพูดกันถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่เรากลับละเลย ประเด็นสิ่งแวดล้อม หรือ ไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจนว่าจะมีการตรวจสอบ และวางแผนการจัดการอย่างไรให้เกิดความเชื่อมั่นว่าแม้จะมี การพัฒนาอุตสาหกรรมเกิดขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมก็ยังได้รับการดูแล
          อันที่จริง ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีการกล่าวถึงกันมานาน และวิธีการ แก้ปัญหาที่นิยมกันคือการรณรงค์ให้เกิดจิตสำนึกรักษาสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วเพียงแค่การรณรงค์อาจไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจสมัยใหม่ เพราะ เป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นไปที่การแสวงหากำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง ในขณะที่ ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรองลงไป ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเป้าหมาย ทั้งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสภาพแวดล้อมที่ดีและน่าอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายและ การปฏิบัติที่เข้มงวดกว่าเดิม หาไม่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคงหนีไม่พ้น กับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่มาบตาพุดเมื่อหลายปีก่อนและ ยังเป็นอยู่ในขณะนี้ เป็นสภาพที่ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตอยู่อีกต่อไป และคนรุ่นต่อไปก็คงกลับมาก่นด่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นตามหลัง--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ