เผยยอดร้องเรียนแบงก์ยังสูงธปท.คาดโทษบังคับขายของ
Source - ผู้จัดการรายวัน 360 องศา (Th)
Tuesday, March 28, 2017 03:51
49359 XTHAI XECON XFINMKT XBANK XFINSEC ZSTOCK DAS V%PAPERL P%ASMD
ผู้จัดการรายวัน360 - ธปท.ยอดร้องเรียนสถาบันการเงินยังสูงต่อเนื่อง พร้อมลงพื้นที่สำรวจพบ90%ของ 143 สาขาแบงก์ พนักงานแบงก์จ้องขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ประกัน บอกข้อมูลไม่ชัดเจน เร่งออกเกณฑ์ดูแลผู้บริโภคในภาพรวมปลายปีนี้ คาดโทษไม่ทำตามมีโทษปรับและไม่ให้ทำธุรกรรมเพิ่ม
นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมาศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ยังคงได้รับเรื่องร้องเรียนการให้บริการของสถาบันการเงินจากประชาชนสูงถึง 1,588 รายการ โดยเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ ยอดเงินต้น และยอดหนี้ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการให้บริการสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้ นอกจากนั้น ยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสม การขายผลิตภัณฑ์การเงินพ่วงประกัน บังคับขาย และการฝากถอนเงินผ่านตู้
นอกจากนั้น ธปท.ยังได้ออกไปสำรวจพื้นที่จริง พบว่า ส่วนใหญ่ประมาณ 90% ของสาขาธนาคารพาณิชย์ที่สำรวจ พนักงานธนาคารยังไม่ได้ให้ข้อมูลที่เหมาะสม ชัดเจน และอิงไปในทางเป็นประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างเพียงพอหรือบอกข้อมูลแต่ในด้านดีเท่านั้น ทำให้ในช่วงตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ธปท.ได้ออกหนังสือกำชับในเรื่องการให้บริการของพนักงานธนาคารพาณิชย์มาต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจน และบทลงโทษที่เพียงพอ
ดังนั้น จึงได้ออกหนังสือกำกับใน 3 เรื่อง คือ 1. เรื่องการออกบัตรเดบิต และบัตรเอทีเอ็ม 2. การเปิดเผยข้อมูลความลับส่วนตัวของลูกค้า และ 3. เรื่องการขายประกันพ่วง นอกจากนั้น ยังได้นำผลการสำรวจของ 143 สาขาที่พบไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงาน โดยสร้างจรรยาบรรณ และวัฒนธรรมองค์กรใหม่ของธนาคารพาณิชย์ในการดูแลผู้บริโภคอย่างเหมาะสม มีการให้นโยบายและกำกับดูแลจากบนลงล่าง รวมทั้ง ให้นำเรื่องการดูแลผู้บริโภคมาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาผลงานและเงินเดือน (เคพีไอ) ของพนักงานแบงก์ แทนที่จะพิจารณาเรื่องยอดขายแต่เพียงอย่างเดียว
ขณะเดียวกันจะให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ รวมทั้งความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่างๆ รวมถึง การรู้จักสิทธิและรู้จักรักษาสิทธิ โดยสามารถปฏิเสธผลิตภัณฑ์ที่ไม่ต้องการ หรือการขายพ่วงได้
นายรณดลกล่าวอีกว่า ในปี 60 นี้จะเร่งจัดการในเรื่องการขายพ่วงประกัน และการเอาข้อมูลความลับของลูกค้าไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมเป็นเป้าหมายหลัก ขณะที่ในปี 61 และ 62 จะทยอยทำเรื่องที่เหลือให้เสร็จสิ้น สำหรับบทลงโทษของสถาบันการเงินที่ไม่ทำตามเกณฑ์การดูแลผู้บริโภคในองค์รวมที่จะออกมาในช่วงสิ้นปีนั้น หากธนาคารพาณิชย์ใดไม่มีการดูแลผู้บริโภคที่เหมาะสมเพียงพอ หากต้องการขออนุญาตธุรกรรมใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภครายย่อยอีก ธปท.มีแนวโน้มที่จะไม่ให้อนุญาตทำธุรกรรมใหม่.--จบ--
ที่มา: ผู้จัดการรายวัน 360 องศา