แอปฯ ดูแล ผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง แบบเรียลไทม์ ลดปัญหารักษาภาวะแทรกซ้อนช้า
Source - MGR Online (Th)
Tuesday, March 28, 2017 15:30
63262 XTHAI XETHIC V%WIREL P%ASMO
กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--ASTVผู้จัดการออนไลน์
ม.ขอนแก่น พัฒนาแอปพลิเคชัน CKD รักษ์ไต ช่วยพยาบาลติดตามดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังแบบเรียลไทม์ ป้องกันเกิดปัญหาโรคแทรกซ้อนแล้วมาพบแพทย์ช้า เน้นระบบรักษาความลับผู้ป่วย ปลอดภัยสูง
รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการข้อมูลและวิเคราะห์ทางสถิติ (ธรรมศักดิ์) คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องที่ต้องล้างไตเองที่บ้าน มีประมาณ 2 หมื่นคนทั่วประเทศ แพทย์จะนัดติดตามรักษา 1 - 2 เดือนครั้ง ระหว่างนั้นหากมีปัญหาหรือมีภาวะแทรกซ้อนกว่าจะรับทราบก็สายเกินไป ขณะที่พยาบาล 1 คนต้องติดตามดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวนมาก บางแห่งต้องดูแลผู้ป่วยถึง 600 คน ทำให้การดูแลไม่ทั่วถึง จึงน่าจะมีระบบแบบเรียลไทม์ ให้พยาบาลติดตามผู้ป่วยผ่านทางหน้าจอได้ โดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลเป็นผู้กรอกข้อมูล เพื่อที่จะประสานกับแพทย์ทันทีเมื่อเกิดปัญหากับผู้ป่วย จึงคิดค้นพัฒนาแอปพลิเคชัน CKD รักษ์ไต ขึ้น ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเร็วๆ นี้ ในงานมหกรรมสุขภาพวันไตโลก ประจำปี 2560 ซึ่งจัดขึ้นที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น
แอปพลิแคชัน CKD รักษ์ไต ถือเป็นแอปพลิเคชันแรกในประเทศที่มีการเชื่อมโยงกับข้อมูลของผู้ป่วยกับพยาบาลผู้ดูแลโดยตรง ทำให้มีความยากมาก เพราะมีเรื่องการรักษาความลับผู้ป่วยที่ต้องปลอดภัยสูงสุด ขณะเดียวกันยังต้องเชื่อมโยงกับข้อมูลผู้ป่วยบางส่วนที่มีอยู่แล้วใน รพ. การทำระบบดูแลผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ การเชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและระบบ Thai Care Cloud โดยการใช้งานพยาบาลจะเป็นผู้ตั้งโมบายแอปให้กับผู้ป่วย พร้อมชื่อและรหัสการเข้าระบบที่รู้ระหว่างพยาบาลและผู้ป่วยเท่านั้น และสอนวิธีการกรอกข้อมูลต่างๆ ในการล้างไตเพื่อนำเข้าสู่ระบบเพื่อใช้ในการติดตามผู้ป่วย รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า แอปพลิเคชัน CKD รักษ์ไต ไม่ได้มีโหมดเฉพาะผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องเท่านั้น แต่ยังมีโหมดสำหรับการติดตามผู้ป่วยฟอกไตด้วยเครื่อง แม้ว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องมารับการฟอกเลือดที่ รพ. 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ในช่วงระยะเวลา 2 - 3 วันนั้น อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นปัญหาได้ จำเป็นต้องมีการติดตามดูแลเช่นกัน โหมดผู้ป่วยกลุ่มเบาหวานและความดันที่มีภาวะเสี่ยงไตวายเรื้อรัง ซึ่งคาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 70,000 คน และโหมดที่เปิดสำหรับประชาชนทั่วไปเพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตวายเรื้อรังเพื่อนำไปสู่การสร้างความตระหนักและป้องกัน
แอปพลิเคชั่นนี้นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก ไม่เพียงแต่กับผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังช่วยลดภาระแพทย์และพยาบาลในการติดตามดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ทั้งยังเป็นประโยชน์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการติดตามการจัดส่งน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง กระทรวงสาธารณสุขในด้านการจัดระบบดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ช่วยลดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ยังนำไปสู่การจัดเก็บข้อมูลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในประเทศ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนาการรักษาและดูแลผู้ป่วยต่อไป นอกจากนี้ ในอนาคตยังอาจนำไปสู่การพัฒนาในรูปแบบปัญญาประดิษฐ์แอปฯ CKD รักษ์ไต นี้จึงนับว่าเป็นประโยชน์ระยะยาวต่อประเทศ รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว--จบ--