เร่งคลอดก.ม.อุ้มผู้บริโภค สคบ.เสนอรีดเงินขายตรง-บ้าน-รถตั้งกองทุนเยียวยา
Source - ฐานเศรษฐกิจ (Th)
Saturday, August 06, 2016 07:09
35437 XTHAI XOTHER XFRONT XECON DAS V%PAPERL P%TSK
หัก 5% ของเงินที่ศาลสั่งสมทบเข้ากองทุน
"สคบ." เดินหน้ายกเครื่ององค์กร เร่งผลักดัน 5 กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค คาดมีผลก่อนเลือกตั้งปี 60 ทั้งจ่อรีดเงินจากผู้ประกอบการหนุนดันตั้งกองทุนผู้บริโภค เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากสินค้าและบริการ เผยธุรกิจขายตรง บ้าน-คอนโดฯ รถยนต์ มีสิทธิ์แจ๊กพอต ระบุเรื่องถึงมือกรมบัญชีกลางแล้ว ผู้ประกอบการอสังหาฯ ติงลงโทษคนดี แฉยอดร้องทุกข์ 10 เดือนแรกที่อยู่อาศัยยังครองแชมป์
ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานที่รับร้องเรียนเรื่องราวร้องทุกข์ต่างๆ ในกรณีที่ผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการซื้อสินค้าหรือบริการ แต่ในทางปฏิบัติเนื่องจากเป็นองค์กรที่ไม่มีอำนาจในมือ การแก้ไขปัญหาไม่เป็นผลเท่าที่ควร จึงมีความพยายามมาหลายรัฐบาล ที่จะยกเครื่ององค์กรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ต่อเรื่องนี้นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สคบ.ได้เร่งดำเนินการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้ผ่านกระบวนการทางกฎหมายเพื่อให้มีผลบังคับใช้ก่อนการเลือกตั้งในปี 2560 โดยมีกฎหมายที่จะต้องดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่. ) พ.ศ. . และร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง (ฉบับที่. ) พ.ศ. ขณะเดียวกันยังมีกฎหมายอีก 2 ฉบับที่ได้จัดทำขึ้นมาใหม่ ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. . และร่างพระราชบัญญัติแจ้งเตือนภัยและจัดการสินค้าที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค พ.ศ. . รวมถึงกฎหมายการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้บริโภค
ดันนายกฯเป็นประธาน
สำหรับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ให้เป็นคณะกรรมการเชิงนโยบาย และแบ่งอำนาจหน้าที่ หรือมอบอำนาจที่เป็นลักษณะงานประจำให้กับคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง หรืออนุกรรมการเป็นผู้ดำเนินการแทน ซึ่งจะเป็นการบูรณาการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ใน 20 กรม 10 กระทรวง ให้ทำงานร่วมกันเป็นคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธาน โดยใช้งบประมาณเป็นตัวกำกับและชี้วัดผลการทำงาน ขณะที่สคบ. ยังคงทำหน้าที่เป็นปกติและยังทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี (ครม.)
ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรงฯ ได้มีสาระสำคัญ 6 ประการที่จะต้องดำเนินการแก้ไข ได้แก่ 1. ผู้ขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรง จะต้องเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด 2.กำหนดให้ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ต้องวางหลักประกัน รวมทั้งต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบ เมื่อมีการย้ายสำนักงาน จัดส่งรายงานเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน 3. ผู้ประกอบการธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง มีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ 4. กำหนดหลักเกณฑ์การโอนกิจการ การเลิกประกอบธุรกิจ 5. กำหนดเหตุที่นายทะเบียนจะเพิกถอนทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงให้ชัดเจน และ 6. แก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน ปัจจุบันกฎหมายฉบับนี้อยู่ระหว่างคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาในรายละเอียด
เน้นการทำงานเชิงรุก
การทำงานของสคบ.ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 10 ปี จะรอให้ประชาชนที่เดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรมเข้ามาร้องเรียนกับทางสคบ. แต่จากนโยบายของตนเองที่มุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก และต้องคุ้มครองผู้บริโภคก่อนที่จะได้รับความเดือดร้อน จึงได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า ซึ่งมีลักษณะเดียวกับ Lamon Law ในต่างประเทศ ที่ออกมาคุ้มครองผู้บริโภค เช่น กรณีที่ซื้อรถยนต์ป้ายแดง และเกิดชำรุดเสียหายเพียงระยะเวลาไม่กี่วัน หากดำเนินการซ่อมแซมแล้ว 3 ครั้ง ยังไม่สามารถใช้งานได้ตามปกติ ผู้ประกอบการจะต้องเปลี่ยนรถคันใหม่ให้ทันที แต่ประเทศไทยที่ผ่านมาจะต้องผ่านกระบวนการทางศาล จึงเห็นว่าควรมีกฎหมายลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อเป็นการป้องปรามการเอารัดเอาเปรียบของผู้ประกอบการ
ตั้งกองทุนเยียวยาผู้เสียหาย
นายอำพล กล่าวอีกว่า สคบ.ยังได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ในช่วงที่อยู่ระหว่างการดำเนินการฟ้องร้องคดี เนื่องจากที่ผ่านมาผู้บริโภคจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ระหว่างรอการพิจารณาคดีในชั้นศาล ซึ่งสคบ.จะใช้เงินกองทุนดังกล่าวชดเชยความเสียหายให้กับผู้บริโภค ก่อนที่การพิพากษาจะสิ้นสุด โดยกองทุนดังกล่าวจะไม่ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน แต่จะเป็นเงินที่เรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่นำมาเป็นหลักประกัน และคืนเงินให้กับผู้ประกอบการหลังจากเยียวยาให้ผู้บริโภคแล้ว หรือสินค้าไม่มีปัญหา โดยเบื้องต้นมีแนวคิดที่จะบังคับใช้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก่อน เนื่องจากเป็นสินค้ามีมูลค่าสูง และกฎหมายอยู่ระหว่างการเสนอเข้าครม. พิจารณา
"สคบ.เป็นห่วงการซื้อสินค้าราคาแพง เช่น บ้าน หรือรถยนต์ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาขึ้นและให้สคบ.เป็นโจทย์ฟ้องแทนผู้บริโภค ตามกระบวนการศาลต้องใช้ระยะเวลานาน 3-5 ปี ซึ่งผู้บริโภคจะต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างการฟ้องร้องคดี หรือถ้าเป็นการซื้อบ้านหากเข้าอยู่ไม่ได้ ก็ต้องไปเช่าที่อื่นพักอาศัยเสียเงินเพิ่ม สคบ.ก็จะเอาเงินกองทุนมาช่วยเหลือเยียวยาไปก่อน ซึ่งเงินกองทุนอาจจะเอามาจากผู้ประกอบการ เช่น โครงการมี 200 หลังเก็บเงินมาหลังละ 2 หมื่นบาท เป็นเงินค้ำประกันไว้ หลังการส่งมอบบ้านเรียบร้อยแล้วไม่มีปัญหาอะไร ก็จะเอาเงินคืนให้ผู้ประกอบการทั้งหมด แต่หากมีปัญหาก็เอามาชดเชยผู้บริโภค เหลือเท่าไรก็คืนผู้ประกอบการไป"
รอเสนอกรมบัญชีกลาง
ด้านนายพัสกร ทัพมงคล ผู้อำนวยการ ส่วนกฎหมาย สคบ. กล่าวว่า สคบ.ได้มีแนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนดังกล่าวและเคยนำเสนอให้รัฐบาลที่แล้ว พิจารณาแต่ไม่ได้ดำเนิน สคบ. จึงได้นำแนวคิดกลับมาพิจารณาดำเนินการใหม่ สาระสำคัญของร่างกฎหมายกองทุนดังกล่าว มุ่งเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าหรือบริการ ขณะที่แหล่งเงินทุนเบื้องต้น จะเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน หลังจากนั้นจะเก็บเงินจากค่าปรับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย และเงินตามคำพิพากษาของศาลในอัตรา 5% ของมูลค่าเงินที่ศาลสั่งให้ผู้ประกอบการจ่ายชดเชยให้กับผู้บริโภค นำไปสมทบในกองทุน
"ตอนนี้ร่างยังถือว่าไม่สมบูรณ์ มีหลายประเด็นที่อาจต้องปรับแก้ โดยกรมบัญชีกลางซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตั้งกองทุนมีความเห็น ไม่อยากให้ยุ่งกับเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่การตั้งกองทุนขึ้นมาก็จะต้องบริหารตัวเองได้ การวางหลักเกณฑ์การใช้เงิน ส่วนกองทุนจะครอบคลุมกับสินค้าอะไรบ้างนั้น จะต้องมีการออกกฎหมายลูกออกมาอีกฉบับ ตอนนี้ร่างกฎหมายจึงยังอยู่ที่สคบ. ประกอบกับทางกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างดำเนินการยกเลิกกองทุนต่างๆ จึงคาดว่าจะดำเนินการในส่วนนั้นก่อนที่จะพิจารณาในส่วนของสคบ."
อสังหาฯร้องเรียนอันดับ 1
สำหรับเรื่องร้องเรียนจากการที่ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนจากการซื้อสินค้าและบริการ ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2559 เลขาฯ สคบ.กล่าวว่า มีประมาณ 6,300 เรื่อง ซึ่งแต่ละปีจะมีจำนวนประมาณ 7,000 เรื่อง โดยสินค้าที่ผู้บริโภคร้องเรียนมากที่สุดยังเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ที่มีจำนวนกว่า 1,900 เรื่อง รองลงมาเป็นสินค้ากลุ่มรถยนต์ และสินค้าที่ขายผ่านช่องทางออนไลน์
ขายตรงรอเสนอความเห็น
ฟากผู้ประกอบการ พ.ญ.นลินี ไพบูลย์ ประธาน บริษัท กิฟฟารีน สกายไลน์ ยูนิตี้ จำกัด อุปนายกฝ่ายรัฐสัมพันธ์ สมาคมการขายตรงไทย กล่าวว่า ขณะนี้กฎหมายขายตรงยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งยังไม่รู้ความคืบหน้าว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อไร และอาจจะต้องมีการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวกลับมาให้ทางสคบ. ดำเนินการแก้ไขรายละเอียดใหม่ รวมถึงภาคเอกชนอาจจะต้องเข้าไปให้ความเห็นด้วย ซึ่งยังอยู่ระหว่างการประสานงาน
อสังหาฯไทยติงลงโทษคนดี
นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันมีกฎหมายจัดสรรคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว ดังนั้น กรณีที่ สคบ.มีแนวคิดจะจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็อยู่ในข่ายต้องจ่ายเงินเข้ากองทุน โดยให้ผู้ประกอบการวางเงินค้ำประกันทุกยูนิตภายในโครงการนั้น และจะคืนให้ภายหลังปิดโครงการนั้น ถือเป็นการลงโทษผู้ประกอบการที่ดี มีความรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการส่วนใหญ่ล้วนตั้งใจพัฒนาโครงการที่ดีมีคุณภาพตอบสนองผู้บริโภค
"แนวคิดวางเงินค้ำประกันโครงการนี้ ทำให้เงินไปจมอยู่ที่กองทุน ซึ่งแต่ละผู้ประกอบการมีการเปิดตัวโครงการจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี ในภาพรวมต่อปีธุรกิจอสังหาฯมีบ้าน คอนโดฯ และทาวน์เฮาส์สร้างใหม่ปีละ 1.4 แสนหน่วย คิดแล้วเป็นจำนวนเงินไม่น้อยที่ต้องไปวางไว้"
นายณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายรับผิดชอบลูกค้า และมีการจัดตั้งงบดูแลลูกค้าอยู่แล้ว ถ้า สคบ.จะตั้งกองทุน ขอดูรายละเอียดก่อน เพราะกองทุนนี้เหมาะกับดีเวลอปเปอร์ที่ไม่รับผิดชอบกับงาน
"โดยปกติ บริษัทจะมีการประชุมเรื่องการร้องเรียนของลูกบ้าน 2 ครั้งต่อเดือน ซึ่งแต่ละเดือนมีร้องเรียน 5-10 เรื่อง บริษัทดำเนินการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการ แต่ทั้งนี้สุดท้ายแล้วถ้าสิ่งที่ทำออกมาเป็นประโยชน์กับลูกบ้าน ทางเอสซีพร้อมจะร่วมมือ"
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปกติบริษัทต้องวางเงินค้ำประกันสาธารณูปโภค 7% และรับประกันโครงสร้างอาคารนาน 5 ปีอยู่แล้ว ซึ่งบริษัทรายใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ต้องการพัฒนาต่อเนื่องก็จะมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว สำหรับเงินกองทุนคิดว่าจะไปปิดกั้นผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเอาเงินมาลงกองกลาง และยังต้องวางเงินค้ำประกันอีก 7% ที่สุดแล้วจะทำให้ตลาดเป็นของรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม หาก สคบ.เรียกประชุมเพื่อขอความคิดเห็นก็พร้อมให้ความร่วมมือ--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 7 - 10 ส.ค. 2559--