ส่องผลงาน สนช.ปี58
Source - คมชัดลึก (Th)
Monday, January 04, 2016 05:19
63144 XTHAI XETHIC DAS V%PAPERL P%KCL
ประภาศรี โอสถานนท์ สำนักข่าวเนชั่น
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 1 ในแม่น้ำ 5 สายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่อยู่ในฐานะเป็นทั้ง ส.ส.และส.ว. ตามที่รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ปี 2557 ได้บัญญัติได้ แต่ สนช.ชุดนี้ก็ถูกวางบทบาทหลักให้เป็นผู้ออกกฎหมาย โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา สนช.ก็ทำหน้าที่ดังกล่าวได้ชนิดแบบไม่ตกหล่น เดินตามเป้าประสงค์ของ คสช.ได้เป็นอย่างดี
ที่ผ่านมา สนช.ปั๊มกฎหมายออกมา 137 ฉบับ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 129 ฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกฎหมายที่ออกตามนโยบายของรัฐบาล กฎหมายการจัดระเบียบสังคมให้เกิดความสมดุล ระหว่างความสงบเรียบร้อย กฎหมายที่เกี่ยวกับภาษี แต่ไม่สามารถออกได้ตามสถานการณ์ปกติ เช่น กฎหมายการชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ กฎหมายภาษีการรับมรดกกฎหมายแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ เช่น พระราชบัญญัติป้องกัน การทำทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หรือกฎหมายอุ้มบุญ กฎหมายที่ต้องทำตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ เช่น พ.ร.บ.ประมงพ.ร.บ.ป้องกันการค้ามนุษย์ เป็นต้น
นอกเหนือจากหน้าที่การออกกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ปี 2557 ยังบัญญัติให้ สนช.มีหน้าที่ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีกด้วย โดยในรอบปีนี้มีคดีถอดถอนนักการเมืองเข้าสู่การพิจารณาของสนช. แม้จะมีข้อวิจารณ์ว่า สนช.มีอำนาจใจการถอดถอนหรือไม่ แต่สนช.ยืนยันอำนาจหน้าที่ของตนเอง เดินหน้ากระบวนการถอดถอนจนจบกระบวนการ โดยบุคคลที่ถูก สนช.ถอดถอนทำให้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง จำนวน 4 คน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
ถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงในประวัติศาสตร์ที่ สนช.สามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพราะที่ผ่านมาการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสภาวะบ้านเมืองที่ปกครองแบบปกติ ไม่มีครั้งไหนที่จะทำสำเร็จได้ เนื่องจากคะแนนที่โหวตถอดถอนนั้นต้องได้ 1 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ แต่ในยุคสภาท็อปบู๊ทจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะโหวต อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นนี้แม้จะเป็นผลงานชิ้นโบแดง แต่ก็ถูกจับตามองจากหลายฝ่ายว่า สนช.มีอำนาจหรือไม่ และถูกมองว่าไปผูกโยงกับการเมืองเพื่อสลายขั้วอำนาจเก่า เนื่องจากผู้ที่ถูกถอดถอนเป็นฝ่ายตรงข้าม เมื่อถูกถอดถอนก็จะถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เท่ากับเป็นการแช่แข็งไม่ให้เข้ามายุ่งในเวทีการเมืองอีกต่อไป
ผลงานที่เข้าตารัฐบาลอีกชิ้นของ สนช. ถึงขั้นที่ "บิ๊กตู่" ยังเอ่ยปากชม นั่นก็คือ ลงพื้นที่พบปะประชาชนตามโครงการ "สนช.พบประชาชน" เพื่อรับฟังปัญหาของประชาชน และรับฟังปัญหาอุปสรรคของหน่วยราชการในพื้นที่ โดยตลอดทั้งปี สนช.ได้ลงพื้นที่ไป 12 ครั้ง ครอบคลุมทั่วภูมิภาค โดยพบประชาชนไปเกือบ 2 หมื่นคน มีปัญหาที่ประชาชนเสนอมากว่า 5,000 ปัญหา เช่น ปัญหาเรื่องผลผลิตทางการเกษตร ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาด้านการคมนาคม ปัญหาที่ดินทำกิน ฯลฯ โดย สนช.ได้นำปัญหามาแก้ไขไปแล้วเกือบ 4,000 ปัญหา
นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. เจ้าของโครงการบอกว่า สนช.จะเป็นสะพานเชื่อมไปยังประชาชนในการแก้ไขปัญหา บางปัญหาก็ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งแก้ไข บางปัญหาเป็นในระดับนโยบายก็ประสานไปยังรัฐบาล ถือว่าโครงการนี้ได้รับความสนใจและเป็นประโยชน์ ดังนั้นจะมีการสานต่อโครงการนี้ในปี 2559 โดยได้มีการวางแผนงานไว้ว่า จะลงพื้นที่อีก 12 ครั้ง โดยจะมีการปรับรูปแบบการลงพื้นที่เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น
"เราไม่ใช่นักการเมือง เราไม่ต้องการไปสร้างภาพ ขณะเดียวกันเราไม่มีฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล การประสานงานอะไรก็จะสะดวกง่ายและขึ้น" รองประธาน สนช.กล่าวย้ำ
หากดูภาพรวมการทำงานในรอบปี 2558 ถือว่าสอบผ่านในแง่ของการทำงานตามที่หน้าที่ที่กำหนดไว้รัฐธรรมนูญ เพราะต้องยอมรับว่า สนช.ชุดนี้ยังเป็น "มือใหม่" และอีกทั้งหลายคนมาจากกองทัพ แต่บทบาทการตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลยังไม่ค่อย "เข้าตา" โดยจะเห็นได้ว่า ปีนี้ สนช.แทบไม่มีบทบาทอะไรเลยในการที่จะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทั้งที่ สนช.ก็มีเครื่องมือในการตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการตั้งกระทู้ถาม การยื่นญัตติ และคณะกรรมาธิการประจำ สนช.ทั้ง 16 คณะถึงแม้ว่า ในช่วงปลายปีจะมีสนช.ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลบ้าง แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการบริหารงานในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ การเจาะประเด็นเรื่องการทุจริตค่อนข้างมีน้อย
ยิ่งในช่วงหลังมี "กลิ่น" ของการทุจริตในโครงการของรัฐบาลผุดขึ้นมา โดยเฉพาะปมทุจริตโครงการสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพ ที่มีอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านออกมาเรียกร้องให้ สนช.ทำหน้าที่ ส.ส.ในการตรวจสอบการทุจริต แต่ดูเหมือนท่าทีของ สนช.ยังคงนิ่งประหนึ่งไม่รู้ไม่เห็นไม่ทราบ โดยเฉพาะผู้นำ "นายพรเพชร วิชิตชลชัย" ประธาน สนช.ที่บอกว่า สนช.ไม่มีตำรวจไปตรวจสอบเรื่องการทุจริตเหล่านี้ หากจะเข้าไปตรวจสอบต้องเห็นว่ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แต่ประธานพรเพชรก็ยังยืนยันว่า รัฐบาลชุดนี้ถูกตรวจสอบทุกแง่มุม
การแสดงท่าทีเช่นนี้จึงไม่แปลกว่า ภาพลักษณ์ของ สนช.จะถูกมองว่า สามารถสั่งซ้ายสั่งขวาได้ หรือเป็นแค่เครื่องมือที่ คสช.ส่งมาให้ทำตาม "ใบสั่ง" ทั้งที่ สนช.เองก็มีหน้าที่หลักในการตรวจสอบการทุจริตด้วย หากนิ่งเฉยเช่นนี้ก็อาจจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับกรณีคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ สนช.รีบเร่งจัดการจนสำเร็จ แต่กรณีการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับกองทัพกลับนิ่ง มิเท่ากับเป็นการ "ละเลยการปฏิบัติหน้าที่" หรือเป็นการทำสองมาตรฐานหรือไม่
คงต้องจับตามองการทำงานของ สนช.ในปีต่อไป เพราะภารกิจหลักนอกเหนือจากการออกกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาลแล้ว ในปี 2559 สนช.จะมีภารกิจหนักเพิ่มขึ้นอีกคือ การออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก เช่น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. เป็นต้น ซึ่งการร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจะเริ่มหลังจากที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการทำประชามติแล้ว
อีกทั้งบทบาทและฝีมือใน "การตรวจสอบ" รัฐบาลที่ต้องมีความเข้มข้นมากขึ้น อย่าโยนความรับผิดชอบนี้ไปยังหน่วยงานอื่น เพราะยิ่งจะตอกย้ำว่า สนช.ลอยตัวเหนือปัญหา ส่งผลทำให้ผู้คนต่างจับจ้องกับบทบาทการตรวจสอบ แต่กลับไม่มองดูการทำงานด้านการผลักดันกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและสังคมที่ทำได้ในภาวะพิเศษเช่นนี้
บรรยายใต้ภาพ
พีระศักดิ์ พอจิต--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก