เป็นบทบาทที่มีความสำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความเข้าใจและความสัมพันธ์อันดี ในระดับโลกและระดับภูมิภาค ระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ เพื่อช่วยแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆของประชาคมโลกด้วยวิถีทางการทูตรัฐสภา ในด้านต่างๆ ได้แก่
๑. บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ทวิภาคี กับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสภานิติบัญญัติ ได้แก่ - การรับรองคณะทูตานุทูต สมาชิกรัฐสภา และบุคคลสำคัญชาวต่างประเทศ - การจัดตั้งกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาไทยกับสมาชิกรัฐสภาต่างประเทศ - การแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนเพื่อเสริมสร้างและกระชับความสัมพันธ์กับรัฐสภาของนานาประเทศ และเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านต่างประเทศของฝ่ายบริหาร
๒. บทบาทในการสร้างความสัมพันธ์พหุภาคีกับองค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศ รัฐสภาไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศหลายองค์กร เช่น - สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างสันติภาพและความร่วมมือระหว่างประชาชน ส่งเสริมให้มีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างสมาชิกแห่งรัฐสภา และมุ่งมั่นจะสร้างและพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยให้มั่นคง - สหภาพสมาชิกรัฐสภาและแปซิฟิก (Asia-Pacific ParliamentariansUnion: APPU) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาไว้ซึ่งอิสรภาพและการปกครองระบอบประชาธิปไตย เสริมสร้างความเข้าใจอันดี และความสามัคคีระหว่างประเทศในเอเชียและแปซิฟิก ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและวิชาการ - สมัชชารัฐสภาอาเซียน (ASEAN Inter- Parliamentary Assembly: AIPA) มีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือและความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐสภาของกลุ่มประเทศ อาเซียน
สมาชิกรัฐสภาเป็นสมาชิกหน่วยประจำชาติไทยโดยตำแหน่ง การดำเนินการในรูปแบบของหน่วยประจำชาติไทย ในแต่ละองค์กรดังกล่าวข้างต้น บริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย โดยมีประธานรัฐสภาเป็นประธาน และรองประธานรัฐสภาเป็นรองประธานหน่วยประจำชาติไทยโดยตำแหน่ง รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เป็นกรรมการบริหารโดยตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังมีกรรมการบริหารอื่นอีก ๑๔ คน ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากสมาชิก รัฐสภาที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ หรือภาษาต่างประเทศอื่น โดยคำนึงถึงจำนวนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารหน่วยประจำชาติไทย มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๒ ปี
รัฐสภาไทยยังได้เป็นสมาชิกและเข้าร่วมในกิจกรรมขององค์การรัฐสภาระหว่างประเทศอีกหลายองค์กร เช่น - องค์การสมาชิกรัฐสภาแห่งเอเชียว่าด้วยเรื่องประชากรและการพัฒนา (Asia Forum of Parliamentarian on Population and Development : AFPPD) - องค์กรสมาชิกรัฐสภาฝ่ายแพทย์และสาธารณสุข (International Medical Parliamentarians Organization : IMPO) - องค์กรการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific Parliamentary Forum: APPF)
๓. บทบาทในการสร้างความเป็นผู้นำและเกียรติภูมิให้แก่รัฐสภาและประเทศไทย รัฐสภาไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมระหว่างประเทศขององค์การระหว่างประเทศมาแล้วหลายองค์การ เช่น ๑) สหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union: IPU) - การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๔๕ ปี พ.ศ. ๒๔๙๙ - การประชุมสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ ๗๘ ปี พ.ศ. ๒๕๓๐ - การประชุมพิเศษของสหภาพรัฐสภา เรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก พ.ศ. ๒๕๓๔ - การประชุมรัฐสภาเนื่องในโอกาสการประชุมสหประชาชาติ ว่าด้วยการค้า และการพัฒนา ครั้งที่ ๑๐ ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ - การสัมมนารัฐสภาภูมิภาคของรัฐสภาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียแปซิฟิก ว่าด้วยการปฏิรูปด้านความมั่นคงในระดับประเทศและระดับภูมิภาค ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ และนอกเหนือจากการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาระดับโลกแล้ว สมาชิกรัฐสภาไทยยังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ในสหภาพรัฐสภา อาทิเช่น กรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา สมาชิกกิตติมศักดิ์ของสหภาพรัฐสภา กรรมการและคณะกรรมาธิการด้านต่างๆ เป็นต้น ๒) สหภาพสมาชิกรัฐสภาเอเชียและแปซิฟิก (Asia-Pacific ParliamentariansUnion: APPU) - การประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๓ และคณะมนตรี ครั้งที่ ๓ ปี พ.ศ. ๒๕๑๐ - การประชุมคณะมนตรี ครั้งที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๕๑๑ - การประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๑๐ และคณะมนตรี ครั้งที่ ๑๗ ปี พ.ศ. ๒๕๑๗ - การประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ ๒๙ และคณะมนตรี ครั้งที่ ๕๖ ปี พ.ศ. ๒๕๓๗ ๓) สมัชชารัฐสภาอาเซียน(ASEAN Inter- Parliamentary Assembly: AIPA) รัฐสภาไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสมัชชาใหญ่มาแล้ว ๕ ครั้ง คือ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒, ๒๕๒๗, ๒๕๓๔, ๒๕๓๙ และ ๒๕๔๔ และจะเป็นเจ้าภาพอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๒
|