'สนช.-กรธ.'ลงพื้นที่อุบลราชธานี 'นิวัติ'ลั่นร่างรธน.เพื่อปชช.-ชาติ
Source - เว็บไซต์แนวหน้า (Th)
Sunday, November 01, 2015 19:00
3444 XTHAI XPOL V%NETNEWS P%WNN
1 พ.ย. 58 เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี คณะสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยนายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมาธิการการเมือง พล.อ.อ.ชาลี จันทร์เรือง พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ สมาชิก สนช. ในฐานะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.เข้าประชุมร่วมหารือต่อนายสมศักดิ์ จังตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และส่วนราชการเพื่อหารือปัญหาที่ต้องการให้เกิดการแก้ไข โดยนายกล้าณรงค์ กล่าวว่า ก่อนปี 2545 ต้องยอมรับว่าประชาชนมีความขัดแย้งทางการเมือง จนนำสู่การรัฐประหารและไม่เข้าใจในระบบประชาธิปไตยในการเลือกคนดีเข้าดำรงตำแหน่ง จึงนำไปสู่การซื้อสิทธิ์ขายเสียง ซึ่งการมาทำงานครั้งนี้อะไรที่เป็นปัญหาในส่วของรัฐบาล สนช. องค์กรอื่นๆ และของจังหวัดที่ต้องการให้แก้ไขก็สามารถเสนอได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ สนช.เป็นผู้แทนคนไทย
ด้านพล.อ.นิวัติ กล่าวว่า ส่วนกรอบการทำงานของร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสั้น กระชับ คลอบคลุม ต้องเขียนภายใต้วิถีชีวิตของคนไทย ไม่สามารถลอกจากต่างประเทศได้ และสิ่งสำคัญคือต้องกำจัดการทุจริตประพฤติมิชอบ อยู่ภายใต้กลไกรัฐธรรมนูญชั่วคราว ส่วนการทำงานของ กรธ.ได้ประมวลความคิดเห็นประชาชนมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งให้ความสำคัญในหมวดของสิทธิประชาชนและสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคง ขณะนี้การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นไปแล้ว 60-70 มาตรา และกำลังร่างฯ ในหมวดของนิติบัญญัติและการบริหารราชการ โดยในเดือนมกราคมจะส่งร่างแรกที่ทำเสร็จให้กับประชาชนและพรรคการเมืองรับรู้เนื้อหา จากนั้นจะนำความเห็นต่างๆ มาปรับแก้และขอยืนยันว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรธ.ตั้งใจเขียนให้ประชาชนยอมรับและชาติเกิดความสงบสุขปรองดอง โดยกำหนดที่ต้องแล้วเสร็จและส่งให้คณะรัฐมนตรี คือวันที่ 1 เมษายน จากนั้นรัฐบาลจะเสนอทำประชามติ เดือนกรกฏาคม หากประชาชนนั้นเห็นชอบภายในเดือนสิงหาคมก็สามารถที่จะประกาศใช้ได้อย่างเป็นทางการ
ขณะที่ส่วนราชการได้สะท้อนปัญหาให้กับ สนช.เรื่องความชัดเจนในการควบรวมองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ว่าจะเป็นเช่นไร เรื่องการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่นใน รธน.ควรเขียนให้มีระบบการตรวจสอบ การติดตามโครงการของภาครัฐ ขั้นตอนการกระจายอำนาจ และการปฏิรูปการศึกษาที่ยังเป็นปัญหาอยู่ทั้งในระดับจังหวัดและประเทศ
หลังจากนั้นเวลา 14.00 น. นายกล้าณรงค์ พร้อมคณะลงพื้นที่โรงเรียนเบ็ทตี้ดูเมน 2 (ช่องเม็ก) อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อพบกับประชาชนและข้าราชการ กว่า 500 คน โดยนายกล้าณรงค์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ต้องการรับฟังปัญหาของประชาชนเพื่อนำกลับเสนอให้ แม่น้ำ 5 สายที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการแก้ไขและช่วยเหลือ แต่หากทางจังหวัดสามารถทำได้ สนช.ก็จะประสานให้ดำเนินการเลยและขอยืนยันว่ารัฐบาลนี้จะไม่ทิ้งประชาชน
ส่วนปัญหาที่ประชาชนต้องการให้ สนช.ช่วยเหลือนั้น คือเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย โดยอยากให้รัฐบาลแก้ไขออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนของประชาชน เนื่องจากอยู่มานานและประกาศเป็นป่าสงวนทีหลัง และเรื่องการเกษตรกร ซึ่งชาวนาเดือดร้อนข้าวราคาตกต่ำเหลือตันละ 10,000 บาท ค่าใช้จ่ายรวมและต้นทุนในการทำนาสูง จึงต้องการให้รัฐบาลเป็นคนกลางในการซื้อข้าว และอยากให้รัฐช่วยลดต้นทุนในการผลิตยางและขึ้นทะเบียนที่ดินการปลูกยาง อยากให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังคงอยู่ แม้หากมีการปรับโครงสร้างองค์กรส่วนท้องถิ่น และส่งเสริมให้มีการศึกษา ต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
นายกล้าณรงค์ ให้สัมภาษณ์หลังลงพื้นที่ด่านช่องเม็ก ว่า วันนี้ตรวจพื้นที่เพื่อรับทราบปัญหาและจะส่งข้อมูลให้กรรมาธิการต่างประเทศเพื่อศึกษาและแก้ไขปัญหาอีกครั้ง ในส่วนของ กมธ.ด้านการเมืองจะรับปัญหาที่ประชาชนเสนอเรื่องการทำงานองค์กรศาลรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบท้องถิ่นและการเลือกตั้ง ส่วนการเพิ่มอำนาจองค์กรอิสระต้องพิจารณาบางอย่างเพิ่มก็ไม่ดี ซึ่งนายกฯ มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการทุจริตอย่างจริงจัง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอำนาจขององค์กร
ที่มา: http://www.naewna.com