วันพฤหัสบดีที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๘ เวลา ๑๑.๐๐ นาฬิกา ณ ห้องรับรอง ชั้น ๒ อาคารรัฐสภา ๑ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงข่าวถึงความคืบหน้าในการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นที่น่าพอใจ และเดินหน้าไปตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
สำหรับภารกิจแรกคือ การร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทางสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ส่งข้อเสนอแนะเบื้องต้นจำนวน ๒๔๖ ประเด็น ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง ๑๘ คณะ โดยส่งมอบให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๗ ตามกรอบเวลาที่กำหนด ซึ่งข้อเสนอที่ส่งไปนั้น มั่นใจว่าจะทำให้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามเจตนารมณ์คือ
- มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขมีความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
- กลไกจัดการการทุจริต คอรัปชั่นที่มีประสิทธิภาพ
- มีการบังคับใช้กฎหมายที่เคร่งครัดและเป็นธรรม
- มีกลไกของรัฐที่ให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึง สะดวกและรวดเร็ว
ที่สำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพลเมือง คือ ประชาชนเป็นใหญ่เพราะประชาชนมีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตประชาชนที่ดีขึ้นจากที่เคยเป็นอยู่ และแข่งขันกับนานาชาติได้ และในวันที่ ๑๗ เมษายนนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะนำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาเสนอให้สภาปฏิรูปรับทราบ และภายหลังหลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว สภาปฏิรูปแห่งชาติจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการตรวจสอบ แก้ไข กลั่นกรอง และแปรญัตติ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด สภาปฏิรูปแห่งชาติมีระยะเวลาทำงานเพียง ๑๐ วัน นับจากวันที่รับร่างรัฐธรรมนูญจากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือตั้งแต่วันที่ ๑๗ เมษายนจนถึงวันที่ ๒๖ เมษายน สภาปฏิรูปแห่งชาติจะทำงานโดยไม่มีวันหยุด เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดีสุด และมีข้อตำหนิน้อยที่สุด เพื่อทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไป เพื่อให้ปัญหาและวิกฤติทางการเมืองที่สะสมอยู่สามารถแก้ไขและคลี่คลายไปได้
สำหรับภารกิจในการปฏิรูปประเทศนั้น สภาปฏิรูปแห่งชาติได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ และตกลงกันในการประชุมวิปแม่น้ำ ๕ สาย เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา สภาปฏิรูปแห่งชาติได้รายงานความคืบหน้าวาระการปฏิรูปประเทศ ๓๖ ประเด็นอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและเดินหน้าอย่างรวดเร็ว โดยกำหนดกรอบเวลาให้กรรมาธิการปฏิรูปทุกคณะส่งกรอบความคิดเห็นภายในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ซึ่งขณะนี้ได้รับครบถ้วนแล้ว และเร่งรัดให้เสร็จภายในวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๕๘ นี้
สำหรับประเด็นปฏิรูปประเทศทั้ง ๓๖ นั้น ครอบคลุมถึง
- การปฏิรูประบบป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ โดยสร้างความโปร่งใสและมีกลไกระบบเปิดที่ตรวจสอบได้ หรือ Open Government เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และการตรวจสอบ จับกุมลงโทษอย่างเคร่งครัด รัฐบาลทุกระดับต้องเป็นระบบเปิดที่ตรวจสอบได้
- การปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ปรับโครงสร้างอำนาจของภาครัฐครั้งสำคัญที่จะช่วยกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น การปฏิรูประบบงบประมาณที่เน้นการจัดสรรงบประมาณเชิงพื้นที่ ควบคู่ไปกับการจัดสรรงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์และเชิงภารกิจ
- การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปกิจการตำรวจ และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
- การปฏิรูปกรอบการเข้าสู่อำนาจและพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคการเมืองไม่เป็นของนายทุน ช่วยคัดเลือกคนดีเข้าสู่สภา
- การปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ดังนั้นจะต้องจัดทำแผนการปฏิรูป ขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมไปถึงตัวกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว ต้องมีการวางกรอบกันให้ชัดเจน การปฏิรูปการศึกษาต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร จึงจะเห็นการปฏิรูปที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงต้องพิจารณากรอบก่อน
- การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ/ การปฏิรูประบบการวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี/ การปฏิรูปด้านพลังงาน/ การปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม /การปฏิรูปด้านสาธารณสุข / และการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน ตลอดจนการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน ค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม การศาสนา และการกีฬา
ทั้งนี้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจึงอยากขอความร่วมมือสื่อมวลชนช่วยนำเสนอข่าวความคืบหน้าในการทำงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติให้กับประชาชนได้รับทราบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเป็นฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด รวมไปถึงประชาชนมีส่วนร่วมในการปฏฺิรูปประเทศและการออกแบบอนาคตประเทศไทยให้แก่ลูกหลานด้วย
ในส่วนของการทำงานร่วมกันของแม่น้ำทั้ง ๕ สายนั้น แม่น้ำแต่ละสายล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำงาน และมีความปรารถนาดีต่อประเทศ แม่น้ำทุกสายมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ ทำให้บ้านเมืองมั่นคง ปลอดภัย มีความมั่งคั่งและเป็นสุข โดยในวันที่ ๑๑ มีนาคม นี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการประชุมวิปแม่น้ำ ๕ สาย ซึ่งจะจัดขึ้น ณ หอประชุมกองทัพบก
ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว เป็นการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้ซักถามในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการตั้งเครือญาติเป็นคณะทำงานของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสมาชิกสภาปฏฺิรูปแห่งชาติ โดยประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ตอบคำถามดังกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคล หากแต่งตั้งเครือญาติแต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในเรื่องดังกล่าว และทำงานแล้วมีผลงาน ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่ต้องตอบชี้แจงกับคนในสังคมได้ ทั้งนี้ในส่วนของสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น ตนยังไม่ทราบว่ามีใครตั้งเครือญาติบ้าง แต่หากมีจริง สภาปฏิรูปแห่งชาติก็จะใช้แนวทางในการดำเนินการเช่นเดียวกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ประเด็นเกี่ยวกับพระพุทธศาสนานั้น ขอเน้นย้ำว่า สภาปฏิรูปแห่งชาติมิได้มีหน้าที่ไปปฏิรูปวงการสงฆ์ หรือพระธรรมวินัย แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีหน้าที่ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปเท่านั้น ในส่วนของคณะกรรมการที่ตั้งขึ้น มีหน้าที่ในการปฏิรูปกิจการที่เกี่ยวกับสงฆ์เท่านั้น หมายถึงดำเนินการเกี่ยวกับตัวฆราวาสหรือบุคคลที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการพระพุทธศาสนา จนทำให้ประชาชนไม่มีความเลื่อมใสในกิจการศาสนา ทำให้ศาสนากลายเป็นพุทธพาณิชย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติจะปฏิรูปในประเด็นเหล่านี้เท่านั้น
|