เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2567 ระหว่างเวลา 8.30-11.30 นาฬิกา นายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทย เข้าร่วมการประชุม APPFGH ครั้งที่ 8 เป็นวันสุดท้าย
เวลา 8.30 นาฬิกา เป็นการประชุมช่วงที่ 5 ในหัวข้อ มีอะไรใหม่และกิจกรรมล่าสุด (Whats New and activity update) โดยเริ่มจากการนำเสนอข้อคิดเห็นจากการศึกษาดูงาน การแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและบทเรียนที่ได้รับจากการศึกษาดูงานในมุมมองของสมาชิกรัฐสภาโดย ดร. Eunyoung Ko เจ้าหน้าที่ประสานงานของ WHO ประจำวานูอาตู นำเสนอประโยชน์ที่ผู้แทนรัฐสภาแต่ละประเทศได้รับจากการลงพื้นที่ศึกษาระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในชุมชนที่อยู่พื้นที่ห่างไกล ปัญหาความท้าทายที่ยังคงมีอยู่และแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงได้รับทราบถึงหลักการทำงานของเรือฉุกเฉินที่สามารถเดินเรือเพื่อไปช่วยเหลือและรักษาประชาชนตามเกาะในจังหวัดต่าง ๆ ของวานูอาตู
จากนั้นเป็นการอภิปรายแลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยสมาชิกรัฐสภาจากฟิลิปปินส์ และสมาชิกรัฐสภาหมู่เกาะโซโลมอนในหัวข้อ การรักษาบุคลากรให้คงอยู่และการสรรหาบุคลากรสุขภาพในพื้นที่ชนบท ซึ่งผู้อภิปรายทั้งสองท่านเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ดูแลประชาชนในเขตพื้นที่ห่างไกลจากระบบสาธารณสุข และมีประสบการณ์ในการจัดการการเข้าถึงระบบสุขภาพอย่างเท่าเทียมกันในพื้นที่ห่างไกล
ต่อมาเป็นการนำเสนอวีดิทัศน์ ในหัวข้อ มีอะไรใหม่? การปฏิบัติเพื่อสุขภาพที่ดีกว่า, ผู้เปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ ที่กล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการอำนวยความสะดวกต่อระบบสุขภาพและสาธารณสุขของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและปิดท้ายด้วยหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภากัมพูชาได้กล่าวและนำเสนอวีดิทัศน์แนะนำประเทศ เพื่อเชิญผู้แทนทุกท่านเข้าร่วมการประชุม APPFGH ครั้งที่ 9 ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา ในปี 2569
ในเวลา 11.00 นาฬิกา เป็นการประกาศรับรองแถลงการณ์พอร์ตวิลาซึ่งเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม โดยสาระสำคัญในภาพรวมของแถลงการณ์ดังกล่าว ได้แก่ การเรียกร้องสมาชิกรัฐสภาในการส่งเสริมนโยบายบุคลากรสุขภาพที่เอื้ออำนวยต่อบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในชุมชนห่างไกล การส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และการส่งเสริมกรอบการทำงานด้านนิติบัญญัติ รวมทั้งการสนับสนุนการจัดสรรงบประมาณสำหรับบุคลากรสุขภาพที่เพียงพอ
พิธีปิดการประชุม APPFG ครั้งที่ 8 เริ่มจากการกล่าวอำลาของผู้แทนแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุมโดยเรียงตามลำดับตามตัวอักษร ซึ่งนายทศพร เสรีรักษ์ ประธานคณะ กมธ.การสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนรัฐสภาไทยได้กล่าวอำลาและขอบคุณผู้เกี่ยวข้องในการจัดงานทุกท่าน และกล่าวถึงการได้รับประโยชน์จากการประชุมในห้องประชุมและการศึกษาดูงาน ณ สถานที่จริง โดยหวังว่าจะได้เข้าร่วมการประชุม APPFGH ครั้งต่อไป ณ ราชอาณาจักรกัมพูชา นอกจากนี้ ยังได้แจ้งต่อที่ประชุมว่ารัฐสภาไทยร่วมกับสหภาพรัฐสภา (IPU) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก ระหว่างวันที่ 2 3 ธ.ค. 67 ณ กรุงเทพมหานคร จึงขอเชิญสมาชิกรัฐสภาจากประเทศต่าง ๆ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย
จากนั้น นาย John Still Tariqetu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสาธารณสุข Dr. Saia Mau Piukala ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาค WHO ภาคพื้นแปซิฟิกตะวันตก Dr. Jiho Cha ประธานการประชุม APPFGH และผู้แทนประธานรัฐสภาสาธารณรัฐวานูอาตู ได้กล่าวปิดประชุม โดยเน้นย้ำถึงบทบาทของสมาชิกรัฐสภาต่อการส่งเสริมการเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพอย่างเท่าเทียม ผ่านการใช้กลไกอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติในการบัญญัติกฎหมาย กำกับดูแลฝ่ายบริหาร และอนุมัติงบประมาณด้านสาธารณสุข
เครดิตภาพและข่าว : กลุ่มงานกิจการพิเศษ สำนักองค์การรัฐสภาระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |