|
|
วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินงานขับเคลื่อนไปสู่รัฐสภาสีเขียว (Green Parliament) พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ รัฐสภาสีเขียวมุ่งสู่การเป็น Net Zero ภายในปี ค.ศ. 2032 (พ.ศ. 2575) ถือเป็นต้นแบบของหน่วยงานภาครัฐของประเทศสำหรับการใช้พลังงานที่ได้มาจากธรรมชาติ ทำให้ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจะดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนจากต่างประเทศ และนำมาสู่การท่องเที่ยว
ทั้งนี้ การลดก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว ไม่ได้เป็นแค่เรื่องการป้องกันภัยพิบัติเท่านั้น แต่เป็นการสร้างโอกาสให้กับคนไทยในด้านอาชีพใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า สภาพอากาศ อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความร้อนที่สูงขึ้นทั่วโลก ปัญหาไฟป่า ปัญหาฝุ่น หมอกควัน ปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น โดย เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกแถลงการณ์ว่า ยุคโลกเดือดมาถึงแล้ว หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญในประเด็นนี้เป็นอย่างมาก และประเทศไทยได้เข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรัฐสภาไทย ในฐานะเป็นศูนย์กลางฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศ ได้กำหนดแผนการดำเนินงานของส่วนงานรัฐสภา โดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศนโยบายสิ่งแวดล้อม "รัฐสภามีความตั้งใจ มุ่งมั่นที่จะพัฒนาสู่การเป็นรัฐสภาสีเขียว (Green Parliament)" ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทย เริ่มขับเคลื่อนการดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การเป็นรัฐสภาสีเขียว โดยตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้น เพื่อศึกษาแนวทางและการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งด้านนโยบาย การบริหารจัดการด้านการลดปริมาณการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก และด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บัดนี้ "แผนแม่บทการขับเคลื่อนไปสู่รัฐสภาสีเขียว (Green Parliament) ค.ศ. 2025 - 2032" ดำเนินการจัดทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำไปสู่การจัดงานสัมมนาที่จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 23 ก.ย. 67 ณ อาคารรัฐสภา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการสัมมนา ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนสื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าว |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|