|
|
วันพุธที่ 7 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายธนพณ เชี่ยวสุทธิ ตัวแทนผู้สนับสนุนกฎหมายว่าด้วยเพศพาณิชย์ และคณะ เรื่อง สนับสนุนกฎหมายว่าด้วยเพศพาณิชย์ (ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สภาแทนราษฎรได้มีการบรรจุระเบียบวาระการประชุม เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในนามประชาชนชาวไทยผู้มีสิทธิเลือกตั้งขอแสดงความเห็นเพื่อสนับสนุนให้ที่ประชุมพิจารณา โดยเหตุผล ดังนี้ 1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกับหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองบริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว ย่อมคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบอาชีพของบุคคลทุกคน เพียงให้การประกอบอาชีพนั้นไม่กระทบกระเทือนความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค เท่านั้น แต่อาชีพที่เกี่ยวกับเพศต่าง ๆ ไม่ว่าการผลิตสื่อบันเทิงทางเพศ (สื่อลามก) หรือ วัตถุบันเทิงทางเพศ (วัตถุลามก) ตลอดจนเพศพาณิชย์อื่น ๆ นั้นไม่มีลักษณะกระทบกระเทือนความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค เเต่อย่างใด รัฐจึงไม่สมควรที่จะมีกฎหมายจำกัดเสรีภาพในการประกอบอาชีพลังกล่าวแต่อย่างใด 2. ในการที่รัฐสภาซึ่งทรงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติจะได้พิจารณาบัญญัติกฎหมายใด รัฐธธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 3 และ มาตรา 26 จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้กำหนดให้การใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อออกกฎหมาย เป็นไปโดยคำนึงถึงถึงหลักนิติธรรม ความเหมาะสม ความจำเป็น ส่วนมาตรา 287 คือการห้ามมิให้เกิดการแพร่หลายของสิ่งของอันลามกเหล่านั้นไปในวงกว้าง แล้วเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนว่าในปัจจุบันการแพร่หลายของสิ่งของอันลามก ได้แพร่หลายได้ง่ายขึ้น โดยผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยไม่ได้จำกัดการเข้าถึงของบุคคล จึงทำให้มีเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เข้าถึงสื่อลามกเหล่านี้ได้ง่าย ดังนั้น จึงเห็นความจำเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 ให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคคล้องต่อสภาพการณ์ของสังคมที่เปลี่ยมแปลงไป ข้อ 3. ผลประโยชน์ในทางเศรษฐกิจประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งมีผลผลิตเป็นยางพาราเป็นสินค้าเกษตรสำคัญอีกอย่างหนึ่งหากมีการแก้ไขกฎหมายให้มีการผลิต ส่งออกหรือจำหน่ายวัตถุบันเทิงทางเพศได้แล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมเพศพาณิชย์และเกิดความต้องการยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตมากขึ้นก่อให้เกิดตลาดยางพาราภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงขอสนับสนุนให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะ เป็นผู้เสนอ) เป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับเด็ก เยาวชน และสตรี นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ภาคประชาชน องค์กรเครือข่ายที่มีความกล้าหาญในการที่แสดงจุดยืนและสนับสนุนในสิทธิของท่านเอง วันนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตนขอบคุณ สส.ทุกท่านที่เสนอร่างดังกล่าว คาดว่าสภาผู้แทนราษฎรจะต้องมีความกล้าหาญในการหยิบยกทุกเรื่องในสังคมมาพูดคุยกันที่เกี่ยวข้องกับมิติต่าง ๆ อย่างมีวุฒิภาวะ และขอให้ติดตามการอภิปรายทั้งฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ตลอดจนการลงมติในร่างดังกล่าว ด้านนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กล่าวว่า ขอขอบคุณประชาชนที่ให้การสนับสนุนเนื่องจากเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเป็นร่างที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งกระบวนการของร่างดังกล่าว จะต้องมีการพิจารณารับหลักการ และมีการตั้งคณะกรรมาธิการตามสัดส่วนที่เกี่ยวข้องกับเด็กและสตรี และหวังว่าจะได้ร่วมงานกันในเร็ว ๆ นี้ สำหรับ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ กล่าวว่า ขอฝากทุกท่านให้ติดตามประเด็นดังกล่าวในวันนี้ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของผู้ใหญ่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสิทธิที่จะตัดสินใจในการประกอบอาชีพ เป็นสิทธิมนุษยชนที่เขาใช้ร่างกายของเขา ดังนั้น การตัดสินใจไม่ควรมีกฎหมายอาญาเอาผิด เนื่องจากประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงก้าวข้าม สังคมปากว่าตาขยิบ ต้องยอมรับความเป็นจริงและต้องได้รับการดูแลต่อไป |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|