|
|
วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม 2567 เวลา 10.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าว ชี้แจงกรณีรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี คนหนึ่ง (นายคารม พลพรกลาง) ได้กล่าวหาหัวหน้าพรรคและพรรคก้าวไกลหลายประการในการต่อสู้ทางกฎหมายในคดียุบพรรคก้าวไกลว่า การแสดงความคิดเห็นดังกล่าวของรองโฆษกฯ เกิดจากความมีอคติส่วนตัวและความไม่เป็นมืออาชีพในตำแหน่งโฆษกรัฐบาล ประการแรก การต่อสู้เรื่องอำนาจศาลที่กำลังพิจารณาคดีในคดีใดคดีหนึ่งว่าศาลนั้นไม่มีอำนาจพิจารณาคดีดังกล่าวนั้น เป็นการต่อสู้คดีโดยปกติที่ฝ่ายถูกร้องหรือฟ้องร้องสามารถยกขึ้นมาต่อสู้คดีได้ทุกคดีในศาล ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายที่ยกเรื่องศาลไม่มีอำนาจขึ้นมาต่อสู้แล้วเป็นการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล มีคดีในศาลจำนวนมากที่ศาลยกฟ้องด้วยเหตุที่มีการฟ้องผิดศาลคือโจทย์หรือผู้ร้องไปฟ้องต่อศาลที่ไม่มีอำนาจพิจารณาคดี ดังนั้น การที่พรรคก้าวไกลยกข้อต่อสู้ประเด็นหนึ่งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกลจึงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งตรงกันข้าม การที่ผู้ที่ประกอบวิชาชีพกฎหมาย แต่พูดชี้นำศาลรัฐธรรมนูญว่าการยกข้อต่อสู้ว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจพิจารณาคดีเป็นการละเมิดอำนาจศาลเช่นนี้ หากไม่ใช่การมีความรู้อันจำกัดของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายแล้ว น่าจะเป็นการแสดงความเห็นโดยมีอคติส่วนตัวกับพรรคก้าวไกล ประการที่สอง การต่อสู้ของพรรคก้าวไกลที่ยกขึ้นต่อสู้เรื่องการที่ กกต. ดำเนินกระบวนการไม่ถูกต้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองและระเบียบ กกต. ในเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐานเพราะ กกต. ไม่ได้เรียกให้พรรคก้าวไกลได้มีโอกาสให้ข้อเท็จจริงหักล้างข้อกล่าวหาของผู้กล่าวหานั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการต่อสู้ของพรรคก้าวไกลในวิธีพิจารณาของ กกต. ก่อนที่ กกต. จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ขั้นตอนการรวบรวมและรับฟังพยานก่อนฟ้องคดีนั้นก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากในการดำเนินคดี เช่น หากเกิดร้องทุกข์ว่ามีการกระทำผิดในคดีอาญา ตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการโดยไม่มีการยกผู้กระทำผิดและพยานมาสอบสวน และอัยการก็ส่งสำนวนที่ไม่มีการสอบสวนที่ได้รับจากตำรวจนั้นไปฟ้องยังศาล ศาลย่อมยกฟ้องเนื่องจากกระบวนการได้มาซึ่งพยานหลักฐานในชั้นตำรวจไม่ถูกต้องเพราะไม่มีการสอบสวนพยานเอกสารและพยานบุคคลเลย ทั้งนี้ เรื่องกระบวนวิธีพิจารณาคดีก่อนการฟ้องคดีต่อศาลนั้นมีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายสิบคดีตัดสินสอดคล้องกันมาตลอดว่าเป็นเรื่องความสงบเรียบร้อยของประชาชน หากการสอบสวนไม่ชอบ ศาลจะยกฟ้อง มิฉะนั้น หากตำรวจส่งฟ้องศาลโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง อัยการและศาลไม่ยึดหลักตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ผลที่เกิดขึ้นคือ ความวุ่นวายในสังคม หาความสงบเรียบร้อยไม่ได้ และคนในสังคมจะหาความยุติธรรมด้วยวิธีการของตนเองแทนที่จะพึ่งตำรวจ อัยการและศาล ประการที่สาม การใส่ร้ายว่าพรรคก้าวไกลดึงต่างประเทศมากดดันศาลรัฐธรรมญนั้น ตนเห็นว่าบุคคลที่มีความคิดเช่นนี้ขาดวุฒิภาวะในความเข้าใจสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ประเทศไทยไม่สามารถอยู่โดดเดียวในสังคมโลกได้ คุณค่าของสังคมโลกในขณะนี้อยู่ที่การมีสิทธิมนุษยชนและสิทธิทางการเมืองของประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีผลต่อการลงทุนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสิ้น ที่ผ่านมา เมื่อประเทศไทยเกิดรัฐประหารครั้งใด นานาชาติก็จะตัดการเจรจาการค้าและความร่วมมือทางทหารและสังคมกับประเทศไทย การที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแสดงความคิดเห็นที่ทำให้เข้าใจได้ว่าสมควรยุบพรรคก้าวไกล ตนคิดว่านายกรัฐมนตรีสมควรทบทวนการทำงานของรองโฆษกฯ คนนี้ว่าได้แสดงความคิดเห็นแบบมืออาชีพของการเป็นโฆษกรัฐบาลหรือไม่ เพราะไม่ได้บอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัวโดยไม่ใช่ความเห็นรัฐบาล มิฉะนั้น ประชาชนจะเข้าใจว่า นายกรัฐมนตรีเห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองเหมือนเช่นที่เคยเกิดกับพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|