|
|
วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2567 เวลา 10.30 น. ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ประธานคณะ กมธ.การอุตสาหกรรม และคณะ แถลงข่าว กรณี รถยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดไฟไหม้ จากเหตุการณ์เพลิงไหม้ในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ทำให้พบว่า มาตรการระงับเพลิงไหม้และการควบคุมผลกระทบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากเหตุเพลิงไหม้ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องกับรูปแบบของการประกอบอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งในประเทศไทยอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ เทคโนโลยีทางไฟฟ้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่ทางรัฐบาลให้การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบกพบว่า ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดมีประมาณ 170,000 คัน มีสถานี Charge ไฟฟ้า จำนวน 2,500 แห่ง กระจายทั่วประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีสถานี Charge ไฟฟ้าในอาคารบ้านเรือน ตัวเก็บประจุไฟฟ้า (Energy storage) ที่มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทย ยังขาดความรู้ความเข้าใจ ในมาตรการ การควบคุม และมีอุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสม ในการดำเนินการระงับเหตุเพลิงที่เกิดจากการลุกไหม้ของ Lithium-ion battery ด้วยเหตุนี้คณะกมธ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงประสานงานและเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของไฟลุกไหม้จาก Lithium-ion battery รวมทั้งวิธีในการระงับเหตุเพลิงไหม้และผลกระทบอื่นๆจากการเกิดเพลิงไหม้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงคู่มือและการฝึกอบรมในการรับมือกับเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไฟไหม้ และ ความปลอดภัยในด้านอื่น ๆ รวมทั้ง ผลักดัน ให้มีการทดสอบสารเคมีต่าง ๆ ที่จะสามารถช่วยระงับเหตุเพลิงไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม คณะ กมธ. เรียกร้องให้ทางภาครัฐเตรียมความพร้อมในการจัดหาอุปกรณ์ บุคลากร ที่มีความจำเป็นในการควบคุมเพลิงไหม้ จาก Lithium-ion battery แจกประกอบมาในรถยนต์ EV ด้วย ทั้งนี้ คณะ กมธ.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทาง วิธีการตลอดจน สารเคมี หรืออุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการดับเพลิงในทุกมิติ แล้วจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะ กมธ.ต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|