|
|
วันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 16.20 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร มอบหมายให้ นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นตัวแทนรับยื่นหนังสือจาก นายทักษิต เรียบร้อย นายกสโมสรนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย และคณะ เรื่อง ขอให้วินิจฉัยทบทวน พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ณ ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุม จังหวัดพระนคร ( ปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งเป็นการวางรากฐานการศึกษาให้แก่ประชาชน และประเทศชาติ โดยก่อตั้งสถานที่เพื่อสาธารณประโยชน์เพื่อการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัย ซึ่งอุเทนถวายเป็นโรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2456 ที่ดิน 21 ไร่ เป็นที่ดินเพื่อการศึกษา ไม่ใช่เพื่อการพาณิชย์ อยู่คู่ประวัติศาสตร์ไทยมากว่า 100 ปี เมื่อปี 2518 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้เจรจาขอคืนที่ดิน แต่ไม่เป็นผล แต่ในความเป็นจริงปมปัญหาที่ดินมีมาอย่างยาวนาน เพราะแผนแม่บทจัดการที่ดิน 1,153 ไร่ ของจุฬาฯ ดำเนินการขอคืนพื้นที่อุเทนถวายจำนวน 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา ที่อุเทนถวายทำสัญญาเช่าเป็นเวลา 68 ปี ตั้งแต่ปี 2478 - 2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษาตามโครงการพัฒนา จากนั้นก็มีการต่อสู้คัดค้านการย้ายออกมาเป็นระยะ ๆ เมื่อเดือน ธ.ค. 65 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วัน หลังจากมีคำสั่ง ซึ่งบรรดาศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มีความผูกพันกับสถานที่ตั้งเดิมของมหาวิทยาลัย และความสะดวกในการเดินทางมาศึกษา จึงขอเรียกร้องให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร วินิจฉัยทบทวน พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2551 คัดค้านการโยกย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย ออกจากพื้นที่
นายเจษ อนุกูลโภคารัตน์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ติดภารกิจ จึงมอบหมายให้ตนมารับเรื่องดังกล่าวแทน โดยจะนำกราบเรียนประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|