|
|
วันพุธที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 10.35 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา น.ส.สกุณา สาระนันท์ สส.พรรคเพื่อไทย และคณะ รับยื่นหนังสือจาก นายชาญวิทย์ ทิพย์มณี ประธานสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น (ประเทศไทย) เรื่อง ขอให้ช่วยเร่งรัดและผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่นโดยเร่งด่วน
ด้วยปัจจุบันการประกอบธุรกิจรังนกแอ่นของประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับของตลาดโลก เนื่องจากไม่มีกฎระเบียบหรือกฎหมายต่างๆ มารองรับ ทำให้สูญเสียโอกาสในการส่งออกรวมทั้งส่งผลเสียต่อระบบธุรกิจเป็นอย่างมาก ดังนั้นสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจรังนกแอ่น(ประเทศไทย) จึงขอให้เร่งรัด เรื่องการออกประกาศกฎกระทรวง ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 เร่งรัดทบทวนดำเนินการ และการพิจารณาแนวทางในการดำเนินการประกอบกิจการบ้านนกแอ่นกินรัง เพื่อขับเคลื่อนและผลักดันการจัดทำร่างระเบียบ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เรื่องการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งรังได้ พ.ศ. ....ตามมาตรา 14 วรรค สอง และร่างระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังของสัตว์ป่าคุ้มครองที่มิใช่ตามมาตรา 14 วรรค สี่ แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และออกระเบียบเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง ทั้งนี้เพื่อผลักดันธุรกิจรังนกของประเทศไทย สามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ การประกอบกิจการบ้านนกแอนกินรัง หรือคอนโดนกแอ่นกินรังนั้นเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วทั้งประเทศไทย และสามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยผลผลิตและมูลค่าตลาดส่งออกกรังนกอยู่ที่อันดับ 3 ของโลกรองจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งอันดับ 1 เป็นของประเทศอินโดนีเซีย แต่กลับไม่มีมาตรการทางกฎหมาย แนวทางหรือหลักเกณฑ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายที่ออกมาเพื่อบังคับใช้โดยเฉพาะในการควบคุมการประกอบการบ้านนกแอ่นกินรัง หรือคอนโดนกแอ่นกินรัง ทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนมายาวนานแล้วนั้น และส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสในทางเศรษฐกิจจากปัญหาอุปสรรคดังกล่าวนอกจากจะเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 และมีอีก 2 หน่วยงานเกี่ยวข้อง คือกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอนามัย ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ในการควบคุมการประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง ประกอบด้วย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กรมโยธาธิการฯ อยู่ระหว่างการ ดำเนินการจัดทำร่างกฎกระทรวงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บหรือมีไว้ในครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งใช้เวลานานกว่า 3-4 ปี ยังไม่แล้วเสร็จ และ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ กรมอนามัย โดยคณะกรรมการสาธารณสุขได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้ประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กลุ่มที่ 13 กิจการอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยกรมอนามัยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุขจึงได้จัดทำร่างมาตรการในการควบคุมการประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง ซึ่งอยู่ในระหว่างรอเสนอคณะกรรมการวิชาการ กรมอนามัย โดยคณะกรรมการสาธารณสุขได้เห็นชอบในหลักการกำหนดให้ประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ กลุ่มที่ 13 กิจการอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 โดยกรมอนามัยในฐานะเลขานุการคณะกรรมการสาธารณสุขจึงได้จัดทำร่างมาตรการในการควบคุมการประกอบกิจการบ้านรังนกแอ่นกินรัง ซึ่งอยู่ในระหว่างรอเสนอคณะกรรมการวิชาการ กรมอนามัย
น.ส.สกุณา สาระนันท์ กล่าวภายหลังการรับหนังสือว่า การประกอบการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงจะขอรับเรื่องดังกล่าวไปประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวต่อไป |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|