วันพุธที่ 6 ธันวาคม 2566 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง ประธานคณะ กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงข่าวเกี่ยวกับการสร้างความเข้าใจความขัดแย้งจังหวัดชายแดนใต้ว่า ในวันนี้ (6 ธ.ค. 66) คณะ กมธ. มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การสร้างความเข้าใจรากเหง้าความขัดแย้ง และกระบวนการสร้างสันติภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ / ปาตานี ซึ่งการสัมมนาในครั้งนี้เกิดจากความคิดเห็นของคณะอนุ กมธ.ทั้ง 2 คณะ ได้แก่ คณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิผลในการเจรจาสันติภาพและข้อเสนอทางออกทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และคณะอนุ กมธ.พิจารณาศึกษาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสร้างสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคณะกมธ. ได้มีโอกาสศึกษารับฟังความคิดเห็นประสบการณ์จากผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้งในจังหวัดภาคใต้ เพื่อให้ได้รับข้อมูลตรงกัน เข้าใจถึงสาเหตุของความขัดแย้ง การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม จากการรับฟังความคิดเห็นนั้น จะมีความแตกต่างกันอยู่ไม่น้อย รากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์ ส่วนการพูดคุยสันติภาพยังอยู่ระหว่างดำเนินการ และยังไม่แล้วเสร็จ โดยมีหลายสิ่งที่จะต้องปรับปรุง อาทิ องค์ความรู้ในการรับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และประชาชนนอกพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าการสัมมนาในครั้งนี้คณะ กมธ. ได้รับประโยชน์ และจะนำสภาพปัญหาในพื้นที่และนอกพื้นที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อนำเสนอไปยังรัฐบาล ทั้งนี้ จากการที่คณะ กมธ. ได้ทำงานไประยะหนึ่ง และจากการเสวนาในครั้งนี้มีประเด็นที่สำคัญที่คณะ กมธ. ได้พิจารณาศึกษา แบ่งออกได้ ดังนี้ 1. บทบาทของรัฐสภาต่อการพูดคุยสันติภาพจะมีการออกกฎหมายหรือแก้กฎหมายอย่างไร ให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้ 2. หลักการทำงานเพื่อให้เป็นการพูดคุยให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องมีการปรับบทบาทและยังไม่มีความชัดเจน ระบบการทำงานที่เป็นประโยชน์ควรจะเป็นอย่างไร 3. ยับยั้งความขัดแย้งที่ส่งผลต่อปัญหาความหวาดกลัว จากรับฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีประสบการณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความเห็นที่แตกต่างกัน 4. การทบทวนการเสนอใช้กฎหมายใหม่ในพื้นที่ อาทิ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ควรจะมีออกกฎหมายใหม่หรือไม่ หรือจะมีการปรับปรุง 5. การปรับการจัดทำงบประมาณให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในพื้นที่ ด้วยสันติวิธีเพื่อต้องการ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเฉพาะงบประมาณควรทำให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่ และควรจะมีขบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำงบประมาณ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการศึกษาไม่ใช่มติของคณะ กมธ. โดยประเด็นสำคัญที่จะมีการศึกษาให้ได้รับองค์ความรู้อย่างรอบด้าน และต้องการเห็นข้อเสนอแนะต่อปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ ดังนั้น คณะ กมธ. จึงคาดหวังการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ โดยคณะ กมธ. มีการศึกษาภายใน 90 วัน และมีแนวโน้มที่จะขยายเวลา รวมทั้งจะลงพื้นที่ในต้นเดือน ม.ค. 67 และจะได้จัดทำข้อสรุปต่อไป |