|
|
วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤศจิกายน 2566 เวลา 15.00 นาฬิกา ณ ห้องรับรองพิเศษ 205 ชั้น 2 อาคารรัฐสภา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรองรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการเมือง สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้การรับรอง นายอาลี บาเกรี คานี (H.E. Mr. Ali Bagheri Kani) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ด้านการเมือง สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน โดยมี นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร นายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร คณะทำงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่าที่ร้อยตำรวจตรี อาพัทธ์ สุขะนันท์ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ผู้อำนวยการกองตะวันออกกลาง กระทรวงการต่างประเทศ และนายอาพล นันทขว้าง ผู้อำนวยการสำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ร่วมให้การรับรอง
ประธานรัฐสภากล่าวต้อนรับด้วยความยินดี พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศที่มีมาอย่างยาวนานเป็นเวลากว่า 400 ปี โดยมีความผูกพันและใกล้ชิดกันทั้งในระดับ พระบรมวงศานุวงศ์ รัฐบาล รัฐสภา และระดับประชาชน สืบเนื่องจากชาวอิหร่านได้มาตั้งรกราก และรับราชการในราชสำนักไทยจนได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าพระยาบวรราชนายก และเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกของประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสำคัญของไทยมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของสองประเทศครอบคลุมทั้งในด้านการทูต เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ด้านความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภา เมื่อครั้งที่ประธานรัฐสภาดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาครั้งแรก ในปี 2540ได้มีโอกาสเดินทางเยือนอิหร่านอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี และได้พบปะกับผู้นำอิหร่าน รวมถึงประธานรัฐสภาด้วย และต่อมาประธานรัฐสภาอิหร่านได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเช่นกัน โดยประธานรัฐสภาได้นำประธานรัฐสภาอิหร่านเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นับเป็นความประทับใจจนถึงปัจจุบัน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ กล่าวขอบคุณประธานรัฐสภาที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น และได้แสดงความยินดีกับตำแหน่งประธานรัฐสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญของประเทศ เป็นที่ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมีความแน่นแฟ้น และมีมิตรภาพที่ดีต่อกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ทั้งสองฝ่ายมีการหารือประเด็นที่สนใจร่วมกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน อีกทั้งอิหร่านและไทยสามารถขยายความสัมพันธ์ด้านรัฐสภาได้ โดยผ่านช่องทางกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาของทั้งสองฝ่าย รวมถึงกรรมาธิการด้านต่างประเทศ ตลอดจนการพบปะหารือระหว่างผู้นำของสองประเทศ อันจะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับต่าง ๆ ต่อไป
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือกันถึงเรื่องสถานการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซา ความคืบหน้าในการช่วยเหลือผู้ที่ถูกควบคุมตัว โดยอิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการเจรจาเพื่อช่วยเหลือให้มีการปล่อยผู้ที่ควบคุมตัว โดยประธานรัฐสภาได้แสดงความขอบคุณ หวังว่าผู้ที่ถูกควบคุมตัวชาวไทยจะได้รับการปล่อยตัวในเร็ว ๆ นี้ และจะเกิดสันติภาพและความสงบสุขในฉนวนกาซาโดยเร็ว โอกาสนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศฯ ได้เชิญประธานรัฐสภาเดินทางเยือนอิหร่าน ในการนี้ ประธานรัฐสภาได้เชิญประธานสภารัฐสภาอิหร่านเดินทางเยือนไทยด้วยเช่นกัน
เครดิต : ข่าวโดยกลุ่มงานข้อมูลข่าวสารระหว่างประเทศ สำนักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|