|
|
วันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 13.30 นาฬิกา ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม ประธานคณะ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะ แถลงข่าวผลการประชุม กมธ. ครั้งที่ 6 ว่า ในวันนี้คณะ กมธ. มีการพิจารณาปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดตามแนวชายแดนไทยร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่ได้รับเชิญมาได้แก่ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โดยหน่วยงานทั้งหมดให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลค่อนข้างดีและน่าสนใจใน 3 ประเด็นได้แก่ 1. ประเด็นธุรกิจผิดกฎหมายในเขตชายแดน อาทิ บ่อนคาสิโนหรือบ่อนการพนันต่าง ๆ ที่เป็นตัวแปรสำคัญทำให้เกิดปัญหาในเรื่องของธุรกิจที่ผิดกฎหมาย ซึ่งมีกลุ่มทุนต่างชาติสีเทาที่เข้าไปลงทุนเป็นจำนวนมาก อีกทั้ง ภายในบ่อนคาสิโนนั้นยังมีการแบ่งห้องทำเป็นแก๊งคอลเซ็นเตอร์เพื่อหลอกลวงคนไทยและชาวต่างชาติ แลบางบ่อนคาสิโนยังมีความเกี่ยวพันกับเรื่องยาเสพติด ซึ่งคณะ กมธ.ได้รับข้อมูลอย่างชัดเจนจากทุกหน่วยงาน แต่ยังไม่เห็นแนวทางในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงต้องสะท้อนไปยังรัฐบาล เพื่อให้มีแก้ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติที่เกิดขึ้นตามชายแดนให้ได้ เนื่องจากปัญหานี้ทำประเทศไทยได้รับความเสียหายจำนวนมาก หากแก้ปัญหาที่ปลายเหตุโดยการจับเอเยนต์คงไม่เพียงพอ แต่มีความจำเป็นที่จะต้องไปทำลายโครงสร้าง จัดการปัญหาต้นตอให้ได้ แม้รัฐบาลจะยังไม่มีแนวทางในตอนนี้ จึงจะใช้กลไลคณะ กมธ.ในการเสนอต่อไป
2. ประเด็นของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยได้มีการสอบถาม ป.ป.ส. และ ปปง.โดยได้รับคำชี้แจงว่า ในขั้นตอนของ ป.ป.ส.เหลือเพียงการสืบทรัพย์ว่ามีทรัพย์สินใดบ้างที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่ง ป.ป.ส.จะไปพิจารณา และคาดว่าสักสัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้ารายงานให้กับประชาชนได้ทราบโดยเร็ว ในส่วนของ ปปง. หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ได้มีการรายงานหลังจากที่แจ้งข้อหาอาชญากรรมข้ามชาติไปแล้ว สำหรับกรณีนี้เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เป็นบทพิสูจน์ว่าสุดท้ายกฎหมายจะสามารถใช้บังคับกับผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญของบ้านเมืองได้หรือไม่ โดยขณะนี้ ไม่ได้อยู่ในช่วงสมัยประชุม เอกสิทธิ์และความคุ้มกันใด ๆ ไม่สามารถปกป้องไม่ว่าคนนั้นจะเป็น สว. หรือ สส. ก็ตาม ประเด็นดังกล่าวจะเป็นสิ่งที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ต้องรับไปทำหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย
3. สถานการณ์ความไม่สงบเกิดการสู้รบที่เมืองเล่าก์ก่าย ประเทศเมียนมา ที่เป็นหนึ่งในฐานของขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้คนไทยจำนวนมากติดค้างอยู่และไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ส่วนหนึ่งเป็นการควบคุมตัวโดยแก๊งค้ามนุษย์ อีกส่วนหนึ่งจากความไม่สะดวก เลยไม่สามารถเดินทางได้ ซึ่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มีการเดินทางไปพูดคุยเจรจายังประเทศเมียนมา โดยได้รับคำตอบว่าจะมีการดำเนินการช่วยเหลือคนไทย แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะทำด้วยวิธีการอย่างไร แต่จะมีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือคนไทยอย่างแน่นอน สำหรับอีก 70 กว่าคนที่อยู่ภายใต้การการควบคุมของกลุ่มค้ามนุษย์ อยู่ในกระบวนการที่จะต้องดำเนินการในการช่วยเหลือ ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะทำให้เป็นรูปธรรมอย่างไร ด้านคณะ กมธ. ได้ขอให้สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ช่วยประเมินตัวเลขว่ามีคนไทยที่อยู่ในกระบวนการลักษณะเดียวกันอีกเท่าไหร่ ซึ่งทางสำนักข่าวกรองจะนำส่งข้อมูลให้กับคณะ กมธ. ต่อไป
คณะ กมธ.ขอยืนยันว่าจะทำงานอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาของอาชญากรรมที่เกิดขึ้นตามชายแดนที่กำลังลุกลามบานปลาย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรมหลาย ๆ อย่างในประเทศได้
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|