|
|
เมื่อวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 เวลา 17.00 นาฬิกา ณ ห้องทำงานประธานรัฐสภา ชั้น 10 อาคารรัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ให้การต้อนรับ รองศาสตราจารย์สุพัฒน์ ธีรเวชเจริญชัย รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ ศาสตราจารย์ ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีฝ่ายการต่างประเทศ อาจารย์หลี่ ซ่าวหยูน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยเกริก ซึ่งเข้าเยี่ยมคารวะเพื่อแสดงความยินดีในโอกาสได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นประธานรัฐสภา
โดยการมาเยี่ยมของผู้บริหาร ม.เกริกในครั้งนี้ ได้นำเรียนต่อประธานว่า มหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีอายุยืนยาวจนถึง 71 ปี เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมในด้านของทางภาษา และได้ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้กับบรรดานักศึกษาชาวไทยและชาวต่างชาติให้ได้เรียนรู้สาขาวิชาที่บูรณาการระหว่างศาสนาและสามัญ เน้นด้านการประกอบธุรกิจอิสลามที่เป็นธรรมต่อสังคม
นอกจากนี้ได้นำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ให้กับประธานได้ทราบ ซึ่งประธานรัฐสภาได้แสดงความยินดี และดีใจที่มหาวิทยาลัยเกริกได้ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริกขึ้นมา ผู้บริหารยังได้นำเสนอเรื่องของผลการศึกษาของประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งท่านประธานรัฐสภาได้ให้กำลังใจ และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยเกริกเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ทางด้านบริหารธุรกิจอิสลาม เนื่องจากมีการเปิดการเรียนการสอน ในหลักสูตรระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก ซึ่งมีสาขาที่แตกต่าง จากมหาวิทยาลัยอื่นคือ สาขาวิชาบริหารธุรกิจอิสลาม ซึ่งมีวิชาเอกคือการจัดการฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งประธานได้กล่าวว่าสมัยท่านเป็นอะมีรุลฮัจย์ ท่านได้บอกว่าการจัดการบริการฮัจย์และอุมเราะห์ เป็นเครื่องมือสำคัญ เราจะต้องพัฒนาโดยเฉพาะบุคลากรทางด้านการประกอบธุรกิจฮัจย์และอุมเราะห์ ซึ่งมหาวิทยาลัยเกริกเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่เปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้
ทั้งนี้ ประธานรัฐสภายืนยันให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ และแนะนำว่าถ้าเป็นไปได้ควรเปิดขยายเป็นวิทยาเขตไปที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความพร้อมที่จะเปิดสอนในหลักสูตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาจีน ภาษามลายู และภาษาอาหรับ
ในช่วงท้าย ประธานรัฐสภาได้เน้นย้ำและให้กำลังใจวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ให้พัฒนาหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมยุคใหม่ตอบรับกับความต้องการของสังคมทั้งในและต่างประเทศต่อไป
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐ e-Mail : webmaster@parliament.go.th [คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|