|
|
วันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายเฉลิมชัย กุลาเลิศ โฆษกคณะ กมธ.การสาธารณสุข และคณะ รับยื่นข้อเสนอเพื่อขอให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาทัศนมาตรศาสตร์ และสาขาวิชาชีพทัศนมาตร ซึ่งเป็นสาขาวิชาเกี่ยวกับการประกอบโรคศิลป์ ที่ดูแลสายตาและ สุขภาพตาของประชาชน จาก ดร.ดนัย ตันเกิดมงคล คณบดีคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
เนื่องจากในประเทศไทยมีการสอนสาขาวิชาทัศนมาตรในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนมา 20 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา มีการผลิตบุคลากรเฉพาะทางในสาขาวิชาทัศนมาตรออกไปรับใช้ประชาชนมากกว่า 700 คน แต่ผู้ประกอบวิชาชีพเหล่านี้ไม่ได้รับการส่งเสริมในการประกอบวิชาชีพและขาดโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านวิชาชีพและนำองค์ความรู้ไปสู่ประชาชนเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาสายตาและดูแลสุขภาพตาตามมาตรฐานสากลเท่าที่ควรเป็น จึงมายื่นเรื่องเพื่อขอให้มีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาทัศนมาตรโดยเร็ว เพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งวัยเด็ก วัยทำงาน และผู้สูงอายุซึ่งขาดโอกาสในการได้รับการดูแลสายตาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวัน เด็กหลายหมื่นคนต่อปีมีปัญหาทางสายตาแต่ไม่มีโอกาสได้รับแว่นสายตา เพราะภาครัฐขาดบุคลากรในการดูแลปัญหาเรื่องสายตา ในวัยทำงานหรือวัยผู้ใหญ่ที่ต้องใช้อุปกรณ์ดิจิทัลในการทำงานได้รับการดูแลที่ไม่ตรงตามมาตรฐานเท่าที่ควร เนื่องจากบุคลากรที่จำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น ไม่มีองค์ความรู้ในสาขาวิชาทัศนมาตรที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้และในผู้สูงวัยเอง คนที่อายุ 40 ปีขึ้นไปทุกคน ต้องมีแว่นสายตาสำหรับการอ่านหนังสือหรือการดูใกล้ แต่ในประเทศไทยมีผู้สูงวัยร้อยละ 15 ที่ไม่ได้รับการดูแลด้านสายตาและมีอาการเสมือนตาบอดเนื่องจากไม่ได้รับอุปกรณ์ช่วยในการมองเห็นที่เหมาะสมในเวลาที่มีปัญหาด้านสายตา ทุกช่วงอายุมีปัญหาเกี่ยวกับปัญหาสายตา หากไม่ได้รับการแก้ไขจะทำให้สูญเสียโอกาส จึงยื่นเรื่องดังกล่าวต่อคณะ กมธ. เพื่อจะได้เข้าใจและเห็นถึงเจตนาของสาขาวิชาทัศนมาตรในการจะทำประโยชน์อีกมากมายที่ยังขาดแคลนในประเทศไทยในการดูแลปัญหาสายตาและการบำรุงสุขภาพตาให้กับประชาชน
ด้านนายเฉลิมชัย กล่าวว่า ในต่างประเทศมีนักทัศนมาตรที่ประกอบโรคศิลป์แล้วก็สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้เป็นจำนวนมาก โดยตนคิดว่าการที่เรามีการควบคุมคุณภาพ มีการออกใบประกอบโรคศิลป์จะทำให้คนที่จบมามีคุณภาพเฉกเช่นเดียวกับแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาล ซึ่งก่อนที่จะจบมาทุกคนจะต้องมีการสอบใบประกอบโรค เพื่อให้ทุกคนมีมาตรฐานในการรักษาโรค และเป็นสิ่งที่จะทำให้มีนักทัศนมาตรเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทยเพื่อยกระดับการตรวจวัดสายตาเป็นระบบ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยจะนำเรื่องนี้เรียนประธานคณะ กมธ. เพื่อบรรจุเข้าสู่การประชุมเพื่อหาวิธีทางในการเร่งรัดเรื่องนี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว |
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|