|
|
ห้องข่าว >> ภาพข่าว >> ภาพข่าวสภาผู้แทนราษฎร |
สส.พรรคประชาธิปัตย์ รับยื่นหนังสือจาก อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ประธานเครือข่ายผลักดันทุเรียนภาคประชาชน และเกษตรกรชาวสวนทุเรียน อ.แกลง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง เรื่อง ขอให้ช่วยผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการส่งเสริม
๏ฟฝัน๏ฟฝ๏ฟฝ๏ฟฝ 28 ๏ฟฝ.๏ฟฝ. 2566
|
วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 13.50 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมด้วย นายชวน หลีกภัย และนายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.พรรคประชาธิปัตย์ รับยื่นหนังสือจาก นายบัญญัติ เจตนจันทร์ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ และประธานเครือข่ายผลักดันทุเรียนภาคประชาชน พร้อมด้วย นายวสันต์ รื่นรมย์ นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย คณะกรรมการเครือข่าย ที่ปรึกษาเครือข่าย และเกษตรกรชาวสวนทุเรียน อ.แกลง อ.เขาชะเมา จ.ระยอง เรื่อง ขอให้ช่วยผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการส่งเสริม พัฒนาแก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน ด้วยปัจจุบันประเทศไทยส่งออกทุเรียนนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2565 มูลค่าส่งออก 125,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5 เท่า เมื่อเทียบกับระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา โดยจัดเป็นพืชเกษตรส่งออกทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับสาม รองจากยางพารา และมันสำปะหลัง ทำให้เกษตรกรทั้งภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคอื่น ๆ รวม 43 จังหวัด ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนอย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ. 2566 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1,340,000 ไร่ ที่ปลูกโดยเกษตรกรรายย่อย และนักลงทุนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ การขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนต้องใช้ที่ดิน แหล่งน้ำ พลังงานจากน้ำมันและไฟฟ้าเพื่อการเกษตร แรงงานภาคเกษตร การขนส่งผลผลิตทุเรียน อุตสาหกรรมแปรรูปทุเรียน ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งปัจจัยการผลิตอื่น ๆ ในปริมาณที่สูงขึ้น หากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบครบวงจร ถ้าผลผลิตทุเรียนล้นตลาด และคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ราคาอาจจะตกต่ำ ตลอดจนหากใช้สารเคมีไม่ถูกต้องอาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ปัจจุบันภาครัฐมีข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียน จึงใช้การขอความร่วมมือการออกระเบียบหรือคำสั่งในระดับจังหวัด ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนระดับ พ.ร.บ.มาบังคับใช้โดยเฉพาะ ทำให้มีข้อจำกัดในการลงโทษผู้นำทุเรียนด้อยคุณภาพออกสู่ตลาด หากมีกฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนจะทำให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ปัจจุบันภาครัฐยังไม่มีเจ้าภาพหลักดูแลเรื่องทุเรียน แม้ว่าจะมีผู้รับผิดชอบหลายหน่วยงาน แต่ยังขาดการบูรณาการร่วมกันจึงสมควรนำเรื่องทุเรียนมาเป็นวาระแห่งชาติเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการไม่มีกองทุนทุเรียนไทย ทำให้เมื่อเกษตรกรชาวสวนทุเรียนกำลังประสบปัญหาจะไม่มีเงินกองทุนมาช่วยเหลือ และจะสามารถมีเงินทุนมาศึกษาวิจัย พัฒนาเกี่ยวกับทุเรียนได้ ตลอดจนควรมีการตรากฎหมายเกี่ยวกับทุเรียนขึ้นมา โดยมีตัวแทนผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาเป็นกรรมการร่วมกับหน่วยราชการในทุกขั้นตอน ตลอดจนควรมีการจัดตั้งหน่วยงานระดับกรม หรือการทุเรียนแห่งประเทศไทย ขึ้นมารับผิดชอบเรื่องทุเรียนเป็นการเฉพาะ
นอกจากนั้น ควรมีการจัดระเบียบพื้นที่ปลูก หรือโซนนิ่งการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม เพื่อจัดหาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน และจัดหาปัจจัยการผลิตที่จำเป็น สนับสนุนแก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต และควรขึ้นทะเบียนผู้ปลูกทุเรียน และกำหนดมาตรฐานการใช้สารเคมี ทั้งปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งควรขึ้นทะเบียนผู้ตัดทุเรียน ผู้ค้าทุเรียน ผู้รวบรวมผลผลิตทุเรียน และผู้ส่งออกทุเรียนเพื่อควบคุมคุณภาพ จึงขอยื่นหนังสือฉบับนี้ เพื่อช่วยผลักดันผ่านกลไกนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร ในการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษา การส่งเสริม พัฒนา แก้ไขปัญหาทุเรียนอย่างยั่งยืน ทั้งระบบ และยกร่างกฎหมายว่าด้วยทุเรียน เพื่อประโยชน์แก่พี่น้องเกษตรกรชาวสวนทุเรียน พี่น้องประชาชนผู้เกี่ยวข้อง และเพื่อความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศด้วย
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า ยินดีต้อนรับคณะผู้แทนเกษตรกร ยินดีที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนทุเรียนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์และสอดคล้องกับสิ่งที่ได้ทำมาตลอด 4 ปี ในช่วงที่เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ซึ่งทำให้ทุเรียนเป็นผลไม้สำคัญที่ทำรายได้ให้กับประเทศจำนวนมหาศาล โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 125,000 ล้านบาท และปีนี้ ผ่านมาแค่ 8 เดือน มีมูลค่าการส่งออกมากกว่าปีที่แล้ว จำนวน 138,000 ล้านบาท ดังนั้น ทุเรียนจึงถือเป็นพืชที่มีอนาคตและมีตลาดใหญ่สุด ซึ่งที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีอุปสรรคเป็นอย่างมากแต่สมัยที่เป็น รมว.พาณิชย์ได้เข้าไปคลี่คลายปัญหาหลายประการเพื่อเป็นการปูพื้นฐานสำหรับอนาคต จึงมีความยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนทุเรียนไทย และจะนำเรื่องที่ทางเครือข่ายเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของพรรคในสัปดาห์หน้า ระหว่างที่สภาอาจจะยังไม่สามารถพิจารณาตั้งคณะ กมธ.วิสามัญขึ้นมาพิจารณาศึกษาได้ก็จะส่งเรื่องให้ กมธ.การพาณิชย์และทรัพย์ทางปัญญา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธานคณะ กมธ.ได้พิจารณาดำเนินการไปก่อน และเป้าหมายสำคัญคือพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมจะสนับสนุน พ.ร.บ.ทุเรียนยั่งยืนให้เกิดขึ้นเพื่อเข้ามากำกับดูแลทุเรียนอย่างครบวงจร ตั้งแต่ในเรื่องการปลูก การรวบรวมผลผลิต การขนส่ง ไปจนกระทั่งการจำหน่าย และการทำวิจัยพัฒนาเพื่อให้ทุเรียนสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของเกษตรกรและประเทศต่อไปได้
|
|
|
สงวนลิขสิทธิ์โดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ๑๑๑๑ ถ.สามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพฯ ๑๐๓๐๐
Call Center ๑๗๔๓ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๐๐ โทรสาร ๐ ๒๒๔๒ ๕๙๙๐
e-Mail : webmaster@parliament.go.th [ คลิกดูแผนที่]
|
|
|
|