อย.เร่งลดเค็ม 4 กลุ่มอาหาร แท็กทีมเอกชนคุมเข้ม 30% ก่อนปี 2568
Source - ประชาชาติธุรกิจ (Th)
Wednesday, June 27, 2018 04:00
คณะกรรมการอาหารและยาร่วมกับ ผู้ประกอบการอาหารสำเร็จรูป เร่งลดปริมาณโซเดียมอาหารสำเร็จรูป มุ่งลด ปริมาณเกลือ 5 กรัมต่อวัน หลีกเลี่ยงโรคความดันโลหิตสูง นำร่อง 4 กลุ่ม อาหาร กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส และขนมขบเคี้ยว เป้าหมายให้ผู้บริโภคลดเกลือ หรือโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ได้มีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมจัดทำเป้าหมายเชิงสมัครใจเพื่อลดปริมาณโซเดียมในอาหารสำเร็จรูป ในจำนวน 4 ผลิตภัณฑ์หลัก อาทิ อาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น-แช่แข็ง ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส และขนมขบเคี้ยว เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศไทยมีความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้น ซึ่งเมืองไทยมีผู้ประกอบการผลิตอาหารสำเร็จรูปจำนวนมาก การร่วมมือกันครั้งนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะมีส่วนช่วยปรับลดปริมาณเกลือหรือโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร
ดังนั้น การปรับสูตรอาหารสำเร็จรูปให้ลดปริมาณเกลือในปริมาณ 5 กรัมต่อวัน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียมได้อย่างมี ประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายให้ผู้บริโภค ลดเกลือหรือโซเดียมลงร้อยละ 30 ภายใน ปี 2568 ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยาได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการอาหาร ผลิตอาหารที่ลดความหวาน มัน เค็ม และติดฉลาก "ทางเลือกสุขภาพ" เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการบริโภคอาหารที่เหมาะกับสุขภาพ
ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองทั้งหมด 633 ผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นกลุ่มอาหารมื้อหลัก 10 ผลิตภัณฑ์ เครื่องปรุงรส 12 ผลิตภัณฑ์ อาหารกึ่งสำเร็จรูป บะหมี่ และโจ๊ก 22 ผลิตภัณฑ์ ขนมขบเคี้ยว 30 ผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่ม 458 ผลิตภัณฑ์ นม 81 ผลิตภัณฑ์ และไอศกรีม 20 ผลิตภัณฑ์ อีกทั้งได้กำหนดแนวทางในการผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้น ในการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน เป้าหมายร่วมกัน
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายลดบริโภคเกลือและโซเดียม ขับเคลื่อนโรงพยาบาลลดเค็มน้อยอร่อยทั่วประเทศ จำนวน 83 แห่ง พร้อมเดินหน้าปรับลดปริมาณโซเดียมลง จากเดิม 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน เป็น 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การบริโภคเกลือให้เหลือ 5 กรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชาต่อวัน ถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบ 30% การปรับสูตรอาหารสำเร็จรูปให้ลดปริมาณเกลือลงจึงเป็นมาตรการสำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริโภคลดการบริโภคเกลือได้อย่างมาก ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพ และช่วยรักษาสุขภาพของผู้บริโภคได้อย่างเหมาะสม
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 มิ.ย. - 1 ก.ค. 2561--