เจ็บ-ป่วยจากทำงาน 6 ปีลดต่อเนื่อง แต่ไม่ตอบโจทย์ลูกจ้าง
Source - มติชน (Th)
Thursday, May 10, 2018 03:00
10 พฤษภาคมของทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็น "วันความปลอดภัยแห่งชาติ" เพื่อกระตุ้นเตือนทุกภาคส่วนของสังคมให้เห็นถึงความสำคัญของการป้องกันอันตราย และการดูแลความปลอดภัยในการทำงานของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม นาย อนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน ได้เปิดเผยสถานการณ์สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง ทั้งเสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และหยุดงานเกิน 3 วัน ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา ระบุว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2555 มีอัตราการประสบอันตรายเท่ากับ 4.49 ต่อ 1,000 ราย ปี 2556 เท่ากับ 4.00 ต่อ 1,000 ราย ปี 2557 เท่ากับ 3.62 ต่อ 1,000 ราย ปี 2558 เท่ากับ 3.26 ต่อ 1,000 ราย ส่วนปี 2559 เท่ากับ 3.04 ต่อ 1,000 ราย และในปี 2560 เท่ากับ 2.88 ต่อ 1,000 ราย
นายอนันต์ชัยระบุว่า การประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้าง นับเป็นความสูญเสียสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตัวลูกจ้าง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ จึงต้องดำเนินการอย่างจริงจัง โดยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการลดการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่ง กสร.ได้กำหนดแนวทางในการลดการประสบอันตรายจากการทำงานไว้ 4 มาตรการสำคัญ คือ 1.สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในการทำงานแก่นายจ้าง ลูกจ้าง 2.รณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่นายจ้างและลูกจ้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายจากการทำงานและร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไข 3.มาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกระตุ้นเตือนให้นายจ้าง ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบให้สถานประกอบกิจการมีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และ 4.สร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยกระจายความรู้ ความเข้าใจ และช่วยในการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอันตรายจากการทำงาน
รัฐบาลประกาศเดินหน้าโครงการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยของประเทศไทย (Safety Thailand) จัดกิจกรรมรณรงค์ลดสถิติอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ (Zero Accident Campaign) แต่ดูเหมือนทั้งหมดยังสวนทางกับที่เครือข่ายผู้ใช้แรงงานต้องการ
นางสมบุญ ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและ สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการติดตามสถิติของกองทุนเงินทดแทน สำนักงานประกันสังคม (สปส.) พบว่า แต่ละปีมีสถิติการเกิดอันตรายจากการทำงานประมาณ 150,000 คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตประมาณ 600 คน หรือเฉลี่ยมีคนทำงานที่ประสบอันตราย 1.7 คน/วัน ถือเป็นตัวเลขที่มากพอสมควร
"นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเดินหน้าเซฟตี้ไทยแลนด์ และมีนโยบายลดอุบัติเหตุจากการทำงานให้เป็นศูนย์ โดยให้รางวัลประจำปีแก่สถานประกอบการที่ไม่มีตัวเลขลูกจ้างบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น พบว่าหลายสถานประกอบการมีการเบี่ยงเบนตัวเลขที่แท้จริง เช่น ให้ลูกจ้างที่เจ็บป่วยจากการทำงานไปใช้บริการผู้ป่วยนอก แทนการใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน บางบริษัทให้ลูกจ้างไปใช้ประกันหมู่ บางรายนายจ้างออกเงินให้ไปรักษาที่ รพ.เอกชน ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ทำให้ไม่ได้ตัวเลขคนเจ็บป่วยจากการทำงานที่แท้จริง นอกจากนี้ ยังพบว่าสถานประกอบการบางแห่งยังมีข้อเสนอจูงใจให้แก่ลูกจ้าง หากไม่มีสถิติการเจ็บป่วยจากการทำงานจะเพิ่มเบี้ยขยันให้กับพนักงานทุกคน ซึ่งข้อเสนอนี้ทำให้ลูกจ้างหลายคนที่เจ็บป่วยจากการทำงานไม่กล้าพูดความจริง เพราะเกรงว่าจะทำให้เพื่อนร่วมงานไม่ได้ เงินเพิ่ม" นางสมบุญกล่าว
นอกจากนี้ นางสมบุญกล่าวอีกว่า ยังมีปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเร่งแก้ไขคือ ขณะนี้ลูกจ้างที่มีปัญหาด้านสุขภาพอันเนื่องมาจากการทำงานยังเข้าไม่ถึงแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะประเทศไทยมีแพทย์เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในสัดส่วนที่น้อยมาก หากเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ใช้แรงงาน แม้รัฐบาลจะอ้างว่าได้มีการจัดอบรมแพทย์จำนวนหนึ่งให้มีความรู้ความเข้าใจด้านนี้เพื่อวินิจฉัยโรคได้ แต่ข้อเท็จจริงแพทย์ก็ยังไม่กล้าวินิจฉัยโรคอยู่ดี
นางสมบุญกล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานประกอบการประมาณ 4 แสนแห่ง แต่ กสร.ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจได้เพียง 17,000 แห่ง และเป็นการตรวจจากแบบฟอร์มเท่านั้น จึงยิ่งทำให้ไม่มีทางได้รู้ข้อมูลตัวเลขลูกจ้างเจ็บป่วยจากการทำงานที่แท้จริงแน่นอน
ดังนั้นในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จะร่วมกับสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานจัดกิจกรรมรำลึกถึงคนงานเคเดอร์และคนงานที่เสียชีวิตจากการทำงาน ที่กระทรวงแรงงาน พร้อมทั้งเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่น 13 ข้อเสนอให้ปฏิรูปเรื่องความปลอดภัยในการทำงานอีกครั้ง--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน