คุมบริการเสี่ยงอันตราย ก.ม.ฉบับแรกของประเทศ
Source - เดลินิวส์ (Th)

Friday, September 08, 2017  04:01
24625 XTHAI XECON MIDD DAS V%PAPERL P%DND

          น.ส.ทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือคคบ. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการดำเนินการเกี่ยวกับบริการที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายแรกของไทย ภายใต้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 3 ที่ใช้ควบคุมธุรกิจบริการ มีคณะอนุกรรมการหนึ่งชุดเพื่อทำการตรวจสอบ เชื่อว่ากฎหมายที่ออกมาฉบับนี้จะช่วยดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมจากธุรกิจบริการที่มีจำนวนมากได้
          "เดิมไทยไม่มีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้มาก่อน แต่มีในต่างประเทศและที่เห็นบ่อยคือ การรีคอล หรือการเรียกคืนสินค้าหากพบว่าสินค้านั้นเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค"
          อย่างไรก็ตามในแง่ของการดูแลคุ้มครองผู้บริโภค แม้ไทยไม่มีกฎหมายเช่นนี้ แต่ได้ใช้อำนาจของ คคบ.เพื่อควบคุมธุรกิจบริการนั้น ๆ ได้ แต่ในเมื่อมีการตรากฎหมายคุมการบริการเป็นการเฉพาะ ก็ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจได้มากขึ้น ว่าจะได้รับความปลอดภัยจากการบริการที่อาจเป็นอันตราย หากตรวจพบสามารถเรียกคืนสินค้าและบริการ หรือสั่งให้ปรับปรุง หรือให้ทำลายสินค้าและบริการนั้น ๆ ได้
          สำหรับกฎหมายฉบับนี้ ได้กำหนดกรณีที่ผลการทดสอบหรือพิสูจน์พบว่า บริการใดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค คคบ.จะมีอำนาจออกคำสั่งห้ามผู้ประกอบธุรกิจให้บริการ หรือสั่งห้ามให้บริการเป็นการชั่วคราว และให้ผู้ประกอบธุรกิจปิดประกาศแจ้ง หรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับอันตรายของบริการ ให้ผู้บริโภคทราบภายใน 3 วันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผู้ประกอบธุรกิจแจ้งเป็นหนังสือ อีเมล และช่องทางอื่นที่ผู้ประกอบธุรกิจเสนอให้บริการให้แก่ผู้บริโภคโดยตรงทราบ และให้ปิดประกาศ ต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 วัน
          ทั้งนี้ในการตรวจสอบ ได้กำหนดให้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ พิสูจน์ตรวจสอบโดยให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำแผนดำเนินการแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงวิธีการให้บริการไม่ให้เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค พร้อมกับให้จัดทำรายละเอียดแสดงใช้ชัดเจน ทั้งชื่อและที่อยู่ของผู้ให้บริการ และลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค หากพบว่าบริการใดที่สามารถแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงวิธีการให้บริการไม่ให้เป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคได้ ก็ให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเสนอข้อมูล เอกสาร หลักฐานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไข ปรับปรุงวิธีการให้บริการให้มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค รวมถึงระยะเวลาในการแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงวิธีการให้บริการ ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค ให้ได้รับทราบอีกครั้ง
          ส่วนกรณีที่ทำไมได้ให้เสนอข้อมูลที่เกี่ยวกับจำนวนเงินในการชดใช้ค่าบริการ วิธีการ ระยะเวลาในการดำเนินการ ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภค และเสนอแผนให้กับคณะอนุกรรมการภายใน 7 วันนับแต่วันที่คำสั่งนั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษา ถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่ทำตามระยะเวลาได้ ก็ให้แจ้งเหตุผล ความจำเป็น ปัญหาอุปสรรค และเวลาที่ขอขยายต่อคณะอนุกรรมการ คณะอนุฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาให้ได้ไม่เกิน 40 วัน หากผู้ประกอบธุรกิจไม่เสนอแผนภายในเวลาที่กำหนด จะเสนอเรื่องให้ คคบ. พิจารณาบทลงโทษต่อไป.
--จบ--

          --เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 9 ก.ย. 2560 (กรอบบ่าย)--