คอลัมน์: สยามรัฐผลัดใบ: สินค้าออนไลน์ที่เอาเปรียบผู้บริโภครัฐบาลต้องตัดไฟแต่ต้นลม
Source - สยามรัฐ (Th)

Tuesday, July 11, 2017  02:16
22066 XTHAI XOTHER XCLUSIVE DAS V%PAPERL P%SRD

          ดร.วิชัย พยัคฆโส
         
payackso@gmail.com
          รัฐบาลระดมทรัพยากรลงทุนให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยพัฒนาเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ได้ 27,000 หมู่บ้านในปีนี้ และครบทุกหมู่บ้านในปีหน้าเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ เป็นการรองรับไปสู่รัฐบาลดิจิทัล
          ต้องยอมรับว่าโลกนี้เป็นโลกแห่งการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศให้เป็นโลกใบเดียวกันด้วยเทคโนโลยีของดิจิทัล จึงไม่ถูกแบ่งเป็นประเทศโลกที่ 1-2-3 อีกต่อไป อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคของ digitalization ในทุกๆ ด้านของเศรษฐกิจและสังคมในยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันในเวลาเดียวกันทั้งโลก
          ในระบบการค้าที่ไม่ต้องมีร้านค้าหรือสต๊อกสินค้ามากมายเหมือนในอดีต การใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อซื้อขายออนไลน์จึงมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องดังเช่นปี60 มีการซื้อขายทาง mobile e- commerce 375,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีก่อน16% คาดการณ์ปี 61 จะเพิ่มเป็น 426,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% และเชื่อได้ว่าหากเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงของรัฐบาลเข้าถึงทุกหมู่บ้าน ยอดการค้าขายทาง e-commerce จะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
          อย่างไรก็ดี การค้าขายทางออนไลน์มีการจัดส่งทั้งทางไปรษณีย์และการจัดส่งของ Kurry บริการได้รวดเร็วเพียงวันสองวัน จึงสะดวกสบายต่อการดำเนินธุรกิจออนไลน์ ซึ่งแน่นอนที่สุดสินค้าของ sme ที่ สสว. ส่งเสริมอยู่นั้นย่อมเข้าสู่ระบบอีกนับหมื่นรายการตามมา แต่ประเด็นมีทั้งส่วนดีและส่วนที่ผู้รับบริการหรือลูกค้ามีปัญหากับสินค้าเหล่านั้น หรือเป็นสินค้าที่ทำให้สังคมเสื่อมโทรมก็มีอยู่มากหลากหลาย
          1.สินค้าไม่เป็นไปตามคุณภาพที่โฆษณา2.ราคาแพงกว่าคุณภาพที่พึงมี3.สินค้าบางประเภทได้ของที่ไม่ตรงกับที่ต้องการ4.สินค้าบางประเภทส่งเงินให้แล้วไม่จัดส่งให้5.สินค้าอบายมุขค้าขายกันแบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย ฯลฯจึงมีผู้บริโภคเสียประโยชน์ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงแจ้งความดำเนินคดีกันมากมาย หากปล่อยไปเช่นนี้ความสับสนวุ่นวายการค้าขายออนไลน์จะไปกระทบกับผู้ทำการค้าที่สุจริต ตรงไปตรงมา เรื่องเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ กสทช. พึงต้องบูรณาการ บริหารจัดการ ทั้งเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และการใช้กฎหมายให้ชัดเจน
          โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าขายออนไลน์ นอกจากจะมีต้นทุนต่ำ มีกำไรมากแล้ว ยังไม่ต้องเสียภาษี VAT และ ภาษีรายได้นิติบุคคลหรือภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจากการที่ค้าขายสินค้าเหล่านี้อีกด้วย ทำให้รัฐเสียประโยชน์หลายหมื่นล้านบาท และเพิ่มขึ้นทุกปี
          การพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่ มีทั้งส่งผลดีและส่งผลที่ผู้รับบริการถูกเอารัดเอาเปรียบ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับรู้ปัญหาเหล่านี้แล้ว หากยังคงนิ่งเฉยกันอยู่ จะทำให้ระบบการค้าออนไลน์ทำลายเศรษฐกิจมากกว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศตามที่มุ่งหวัง--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ