นิติวิทยาศาสตร์ 'ลุยปราบทุจริต' ถ่ายทอด 'ความจริง' มัดคนทำผิด
Source - โพสต์ ทูเดย์ (Th)

Wednesday, July 05, 2017  03:04
59582 XTHAI XGEN DAS V%PAPERL P%PTD

          เอกชัย จั่นทอง
          ปัญหาทุจริตภัยร้ายค่อยๆ ทำลายดัชนีทางเศรษฐกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แม้หลายภาคส่วนพยายามดุ่มเดิมแก้ไขปัญหาที่มันดิ่งลึกยาวนานมาตลอด แต่ปัญหาการทุจริตก็คืออาชญากรรมประเภทหนึ่งมีความซับซ้อนปกปิดการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ หลายคดีพยานหลักฐานจึงสาวไม่ถึงตัวการใหญ่ แต่ยุคปัจจุบันหน่วยงานปราบปรามทุจริตอย่างสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นำงานนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาไขคดีทุจริตค้นหาความจริงล่าตัวคนผิดมาดำเนินคดี
          พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี กรรมการ ป.ป.ท. ลำดับบทบาทหน้าที่การทำงานของ ป.ป.ท. ว่า สำหรับการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาทุจริตของ ป.ป.ท. มีเรื่องร้องเรียนจำนวนมาก ทำให้ต้องเร่งรัดดำเนินการในหลายคดีสำคัญ ส่วนใหญ่เป็นคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมจนถึงการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ แต่เรื่องทุจริตก็คืออาชญากรรมเช่นกัน
          การตรวจสอบคดีทุจริตสำคัญที่สุด คือ พยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีเพื่อบ่งชี้ว่ามีการกระทำผิดจริง และการสอบสวนตรวจสอบหาพยานหลักฐานหาตัวผู้กระทำผิดมารับโทษทางอาญาตามกฎหมายถือว่าสำคัญมาก เนื่องจากพยานหลักฐานมีส่วนสำคัญเพื่อยืนยันกับศาลว่าบุคคลนั้นมีความผิดหรือทำผิดจริง เพราะฉะนั้นการพูดหรือการให้ปากคำเพียงอย่างเดียวอาจไม่พอเพียงมัดตัวผู้กระทำผิด
          "จึงต้องมีการตรวจพิสูจน์ เช่น ผู้ทำผิดรายนี้ปลอมลายมือลายเซ็นเรื่องการเบิกเงิน ก็ต้องมีการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบลายนิ้วมือ ก็คือการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาสืบสวนหาข้อเท็จจริง หรือกรณีรับจ้างทำงานแล้วมีการขุดดินขุดบ่อปรากฏว่าปริมาณงานไม่ได้ตามกำหนด การตรวจสอบปริมาณงานต้องใช้หลักวิชาเลขาคณิตคำนวณหา คำตอบ" พล.ต.อ.จรัมพร กล่าว
          กรรมการ ป.ป.ท. ให้ความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า หลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จะเข้ามาช่วยงานปราบปรามทุจริตได้อย่างดี เพราะงานนิติวิทยาศาสตร์สามารถเล่าเรื่องราวได้ อีกทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ยังอยู่คงทนถาวรตราบใดที่ยังมีตัวตนอยู่ มันสามารถนำมาตรวจพิสูจน์ซ้ำได้ การตรวจตามหลักนิติวิทยาศาสตร์เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ทำงาน และที่สำคัญคืองานนิติวิทยาศาสตร์เป็นการ "ทำให้ผู้กระทำผิดยอมจำนนต่อพยานหลักฐาน"
          ส่วนคนที่ทำงานบนหลักนิติ วิทยาศาสตร์จะมีความมั่นใจในการทำหน้าที่ของตัวเอง แต่สำคัญต้องรู้จักวิธีการ และสิ่งใดที่นำมาเป็นหลักฐาน และจะให้มันเล่าเรื่องถ่ายทอดความจริงออกมาได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถป้องกันปัญหาทุจริตได้ เพราะการป้องปรามทุจริตคือสิ่งที่ คุ้มค่าและลงทุนน้อยที่สุด เพื่อทำให้คนกลัวการกระทำผิด ตรงนี้เป็นมาตรการยับยั้งไม่ให้เกิดการทุจริต เพราะแม้จะทำทุจริตลึกลับซับซ้อนอย่างไร นิติวิทยาศาสตร์ก็สามารถไขเปิดความจริงได้
          "ที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำพูดเล่นๆ ว่าโกงเป็นสิบ ทุจริตเป็นสันดาน บางครั้งอ้างว่าคนนั้นคนนี้ทำเขาก็ทำได้เหมือนกัน ค่านิยมตรงนี้เราต้องเปลี่ยนแปลง จึงมีการรณรงค์ออกมาว่า โตไปไม่โกง เท่านั้นยังไม่พอ ต้องโกงไปไม่โต เพราะบางครั้งกว่าจะสอบสวนเสร็จคนทำผิดเลื่อนตำแหน่งไปถึงอธิบดีกันแล้ว เนื่องจากใช้ระยะเวลาไต่สวนหรือแสวงหาหลักฐานนาน จะทำให้หน่วยงานคนทำผิดปกป้องเจ้าหน้าที่ของตัวเอง" กรรมการ ป.ป.ท. กล่าว
          พล.ต.อ.จรัมพร อธิบายการทำงานตรวจสอบทุจริตอีกว่า หลายครั้งคนที่ทำผิดอยู่ในอำนาจของเรา (ป.ป.ท.) แต่พอนานไปตำแหน่งใหญ่โตขึ้น ฉะนั้นเมื่อคนทำผิดทุจริตต้อง "โกงไปต้องไม่โต" ด้วย ฉะนั้นประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานปราบปรามทุจริตต้องรวดเร็ว และประชาชนต้องเข้ามาช่วยกันในส่วนนี้ เชื่อว่าการทำงานจะรวดเร็วขึ้น
          ในปัจจุบันนี้ถ้า ป.ป.ท.มีเรื่องทุจริตร้องเรียนเข้ามาแล้วพบข้อมูลในเบื้องต้น จะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปตรวจสอบหาหลักฐานในทันที เพราะบางครั้งพยานหลักฐานอาจหาสูญหายหากปล่อยไว้นานเกินไป จากนั้นค่อยมาตั้งคณะอนุกรรมการตามหลังตรวจสอบข้อเท็จจริงการทำคดีได้
          อย่างไรก็ตาม การทำงานเพียงหน่วย ป.ป.ท.อย่างเดียวคงไม่เพียงพอและบางส่วนอาจละเลยหน้าที่ การดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านทุจริตและประพฤติมิชอบ หวังช่วยเจ้าหน้าที่สอดส่องแจ้งเบาะแสการทุจริต ถือว่ามีความสำคัญช่วยเป็นหูตาของประเทศชาติ หากประชาชนพบเห็นก็สามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้ทันที ซึ่งหากปราบปรามทุจริตต่อเนื่องตลอดจะทำให้จีดีพีเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะเงินจำนวนมหาศาลหายไปจากระบบและไม่ได้รับการตรวจสอบหรือถูกละเลยไป
          ตัวอย่างคดีการตรวจสอบทุจริตการขุดกลบบ่อบาดาลในพื้นที่ อ.วังดาล จ.ปราจีนบุรี ที่พบว่ามีการทุจริต โดยใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้าช่วยพิสูจน์หลักฐานตรวจสอบหาหลักฐาน เมื่อมีข้อมูลจากวิทยาศาสตร์แล้ว จึงเชื่อว่าศาลจะรับฟังและสั่งลงโทษกับผู้กระทำผิดได้ เนื่องจากมีวัตถุพยาน มีหลักฐานชัดเจนเชื่อมโยงกับพฤติกรรม เป็นแนวทางในการตรวจสอบการทุจริต
          ในฐานะกรรมการ ป.ป.ท. พล.ต.อ. จรัมพร พร้อมปัดกวาดบ้านของตัวเองให้สะอาดสะอ้าน เพราะเป็นหน่วยงานปราบปรามทุจริต โดยทุกหน่วยในสังกัดต้องช่วยกันดูแลให้ปลอดจากทุจริต และบุคลากรต้องเข้าใจพร้อมให้ความร่วมมือ เช่นเดียวกับการทำงานต้องปฏิบัติงานเชิงรุกติดตามข่าวสารในสังคมตลอด ติดตามงาน "กัดไม่ปล่อย ถอยไม่มี ราวีเป็นระยะ" สร้างผลงานให้ปรากฏและเป็นที่พึ่งพาของสังคม "ประชาสัมพันธ์ด้วยหน้าที่ สร้างบารมี ด้วยผลงาน" แต่ไม่ใช่การสร้างภาพ
          ไม่ต่างจากการเพิ่มเขี้ยวเล็บในองค์กรให้เกิดความเชี่ยวชาญเป็นมืออาชีพ แล้วปรับปรุงองค์กรทบทวนและแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงาน ควบคู่กับการสร้างดัชนี ชี้วัดความสำเร็จในการทำงานขององค์กร เพื่อให้การทำงานเกิดประสิทธิภาพ โดยอาจมีการจัดการอันดับคะแนนความโปร่งใสในองค์กร เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันได้
          ทั้งหมดเพื่อให้เกิดเป็นบรรทัดฐานการขับเคลื่อนองค์กร โปร่งใสตัวอย่าง โดยมี ป.ป.ท.เป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่นนำไปปฏิบัติ--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์