'ผู้ค้า 2 หมื่นราย' ทั่วกทม.ร้องขอผ่อนผันขายบนทางเท้า
Source - กรุงเทพธุรกิจ (Th)

Wednesday, July 05, 2017  08:09
58209 XTHAI XLOCAL DAS V%PAPERL P%KT

          จากนโยบายของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่ดำเนินจัดระเบียบทางเท้ามาอย่างต่อเนื่อง จนแล้วเสร็จทั่วทั้งกทม.ไปเมื่อไม่นานมานี้ พร้อมๆ กับการผุดไอเดียจัดพื้นที่สตรีทฟู้ดในย่านเยาวราช และถนนข้าวสาร จนเป็นที่มาของการร้องเรียนจากผู้ค้าหลายแห่งว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และอ้างถึงความลำบากจากมาตรการดังกล่าว
          ขณะที่ล่าสุดก็มีการเสนอที่จะอยู่ในกติกาเดียวกับจุดส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เป็นสตรีทฟู้ดทั้ง 2 แห่ง และเสนอค่าธรรมเนียมทำความสะอาดรายละ 1,500 บาทต่อปี เพื่อช่วยผู้ค้ากว่า 20,000 คน ให้มีที่ทำกิน และยังเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียมเข้ากทม.ปีละ 30 ล้านบาท
          เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้หารือกับนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เพื่อวางแนวทางการดูแลผู้ค้าที่ได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบทางเท้าในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมีคณะผู้บริหารกทม. และผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
          พล.ต.อ.อัศวินกล่าวว่า การจัดระเบียบทางเท้าเป็นนโยบายของกทม.ที่ดำเนินการมาในหลายๆพื้นที่ แต่ตนก็เข้าใจถึงการค้าขายของประชาชน ที่อาจได้รับความเดือดร้อนจากการจัดระเบียบ กทม.จึงต้องร่วมหาแนวทางกับผู้ค้า เพื่อแก้ปัญหาในรูปแบบที่เหมาะสมมากที่สุด
          แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาแก่ผู้ค้านั้น กทม.พร้อมให้ความเป็นธรรม แต่ก็ต้องดำเนินการภายใต้กรอบที่เหมาะสม และไม่เกิดผลกระทบกับประชาชนผู้อื่นเช่นกัน ทั้งนี้ ตนได้กำหนดให้ผู้ค้าไปหาแนวทางที่ต้องการ และจะนำมาประชุมกำหนดรูปแบบที่เหมาะสมในการจัดระเบียบอีกครั้ง ในวันที่ 17ก.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการหาจุดร่วมที่ลงตัวต่อทุกฝ่ายมากที่สุด
          นายวัชระกล่าวว่า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย มีความทุกข์จากนโยบายการจัดระเบียบทางเท้าของกทม. เนื่องจากผู้ค้าหลายๆแห่งไม่มีพื้นที่ขายของ ซึ่งกว่า 600 จุด ในพื้นที่ 50 เขต ที่ได้รับผลจากการจัดระเบียบไปนั้น มีผู้ค้ากว่า 20,000ราย ซึ่งเป็นผู้ค้าที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกทม. แต่ถูกยกเลิกการค้าในจุดนั้นๆ ทำให้ได้รับผลกระทบกับการดำเนินชีวิตอย่างมาก เนื่องจากจุดการค้าแห่งใหม่ที่กทม.จัดหารองรับผู้ค้านั้น บางจุดไม่สามารถค้าขายได้จริง
          ดังนั้น ตนจึงเป็นตัวแทนกลุ่มผู้ค้า อยากให้กทม.ช่วยเหลือ ดูแลผลกระทบของผู้ค้า ซึ่งในบางจุดที่มีการค้าขายบนทางเท้านั้น ไม่สร้างผลกระทบใดๆ และไม่กีดขวางทางจราจรก็อาจอนุโลมให้ผู้ค้าได้มีที่ทำกิน เช่น ตลาดสุขุมวิทช่วงกลางคืน ที่เป็นการค้าในช่วงเวลาที่ไม่เร่งด่วนแล้ว ซึ่งในอดีตเป็นการค้าที่มีชื่อเสียงระดับโลก ก็อาจมีการอนุโลมให้สามารถค้าขายได้ หรือพื้นที่กรุงเทพฯรอบนอก หรือจุดที่มีทางเท้ากว้าง ก็อาจแบ่งพื้นที่ให้ผู้ค้าตั้งวางแผงค้าได้บางส่วน
          ซึ่งขณะนี้ กทม.มีนโยบายอนุโลมแผงค้าในถนนเยาวราช และถนนข้าวสารพัฒนาส่งเสริมการค้ามากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นโครงการที่ดี ตนก็อยากให้กทม.อนุโลมจุดอื่นๆเพิ่มเติม โดยผู้ค้าในกลุ่มถูกกฎหมาย เป็นกลุ่มที่ลงทะเบียบการต้ากับกทม.นั้น ต่างก็ยินดีที่จะเสียค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดบนทางเท้าให้กับกทม. ดังเช่นผู้ค้าในพื้นที่ราชเทวี ที่ในอดีตที่ผ่านมา ได้เสียค่าธรรมเนียมรักษาความสะอาดให้สำนักงานเขตอย่างถูกต้อง ผู้ค้า 1 รายจ่ายปีละกว่า 1,500 บาท
          ดังนั้นหากพื้นที่อื่นๆ กทม.อนุโลมทำการค้า และดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน ก็จะช่วยให้ กทม.สามารถจัดเก็บงบประมาณได้เพิ่มเติมอีกปีละกว่า 30 ล้านบาท
          "หากกทม.อนุโลม ให้ทำการค้าจะจัดเก็บงบประมาณเพิ่มเติมได้อีกปีละ กว่า 30 ล้านบาท"--จบ--

          ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ