สคบ.เตรียมคลอดกฎกระทรวง กำหนดวงเงินประกันขายตรง
Source - สยามธุรกิจ (Th)
Saturday, June 17, 2017 03:34
21839 XTHAI XCORP XSALES DAS V%PAPERL P%SBW
สคบ.เตรียมคลอดกฎกระทรวง กำหนดวงเงินประกันขายตรง
สคบ.เตรียมปล่อยกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลังพ.ร.บ.ขายตรงประกาศใช้ พร้อมแจง ประเด็นเงินประกันอาจต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อกำหนดวงเงินให้ชัดเจน ขณะที่ผู้ประกอบการแนะไม่ควรเกิน 5 แสนบาท ส่วนการแจ้งผลประกอบการทุก 6 เดือน หลายฝ่ายเห็นชอบ แต่ต้องถกอีกรอบ เพื่อกำหนดรายละเอียดการส่งข้อมูล
วิธิเนศวร์ เนียมมีศรี นิติกรชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า พระราชบัญญัติขายตรง ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา และจะมีผลบังคับใช้เมื่อผ่าน 120 วัน หรือในวันที่ 14 กันยายนศกนี้ เนื้อหาของพ.ร.บ.ฉบับปรับปรุงใหม่นี้
ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 16 ประเด็น โดยเน้นในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกชักชวนเข้าสู่แชร์ลูกโซ่ โดยมีประเด็นสำคัญๆ คือ ทุนจดทะเบียนบริษัท 1 ล้านบาท ชำระเต็ม การวางเงินประกัน และการแจ้งผลประกอบการทุกๆ 6 เดือน
"พ.ร.บ.ฉบับนี้ ได้มีการกำหนดเงินวางประกันเพื่อเป็นหลักประกัน สำหรับชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคที่สั่งซื้อสินค้าแต่บริษัทไม่ได้มีการจัดส่งสินค้าตามที่ตกลง หรือสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง สร้างความเสียหายกับผู้บริโภค และเมื่อพิจารณาข้อเท็จจิรงพบว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องรับผิดชอบ ก็จะมีการนำเงินประกันในส่วนนี้ไปจ่ายให้กับผู้บริโภคก่อน จากนั้นก็จะเรียกเก็บจากผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อนำเงินมาเต็มให้เต็มจำนวนเช่นเดิม ถือเป็นการบรรเทาความเสียหายเบื้องต้น เพื่อไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้บริโภคกรณีที่ต้องฟ้องคดี เพราะเมื่อผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้บริโภคเข้าสู่ชั้นศาล อาจจะต้องใช้เวลานาน เงินในส่วนนี้จะสามารถเยียวยาได้เร็วขึ้น"
ทั้งนี้ จำนวนเงินวางหลักประกัน จะมีการกำหนดออกมาเป็นกฎกระทรวง โดยทางสคบ.จะตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อเสนอแนวคิดและกำหนดวงเงินที่เหมาะสม รวมทั้งการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบธุรกิจ หรือผู้บริโภค รวมทั้งผู้จำหน่ายอิสระ เพื่อหาจุดยืนร่วมกัน เดิมจำนวนเงินวางหลักประกันมีการเสนอให้คิดจากยอดขายแต่ละบริษัท ซึ่งจะไม่เท่ากันตามขนาดของธุรกิจ แต่สุดท้ายต้องทำประชาพิจารณ์เพื่อสรุปข้อมูลทั้งหมด รวมถึงแนวคิดที่ว่า เงินในส่วนนี้ภายในระยะเวลา 3 ปี ควรจะ เพิ่มและลด หรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ ยังได้กำหนดให้ผู้ประกอบการในธุรกิจขายตรง ต้องแจ้งผลประกอบการบริษัท 2 ครั้ง ภายใน 1 ปี จากเดิมแนวคิดนี้เป็นเพียงนโยบายของเลขาธิการฯ คนเก่า รัศมี วิศทเวทย์ ไม่ได้ออกมาเป็นพ.ร.บ.เป็นแค่การขอความร่วมมือ แต่ปัจจุบันถูกนำมา กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ฉบับแก้ไขใหม่นี้
"พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจ ต้องรายงานผลประกอบการภายในเดือนมกราคม และเดือนกรกฎาคมของทุกปี ก่อนหน้านั้นท่านเลขาธิการฯ คนเก่า ได้มีการกำหนดไว้ในหนังสือรับจดทะเบียนเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ฉบับที่ 3 โดยคณะกรรมการฯ จะมีการกำหนดรายออกมาอีกครั้งว่า ผู้ประกอบการต้องรายงานในส่วนไหนบ้าง เช่น สำนักงานตั้งอยู่ที่ไหน มีสินค้ากี่รายการ มีสมาชิกกี่ราย รวมทั้งผลประกอบการกำไรขาดทุน จะต้องมีการรายงานด้วยหรือไม่"
วิธิเนศวร์ กล่าวอีกว่า สำหรับบทลงโทษกรณีไม่แจ้งผลประกอบการ เดิมยังไม่มีการกำหนดไว้ แต่ปัจจุบันนี้ได้บัญญัติไว้ว่า ให้ผู้ประกอบ ธุรกิจต้องรายงานผลประกอบการ ถ้าไม่แจ้งถือเป็นเหตุที่นายทะเบียนอาจจะเพิกถอนการประกอบธุรกิจ คำว่า "เป็นเหตุ" อาจจะไม่ถึงขั้นร้ายแรง เพียงแค่เรียกมาสอบถามข้อเท็จจริง แต่ก็ถือเป็นเหตุเพิกถอนได้เช่นกัน ส่วนที่เป็นเหตุให้มีการเพิกถอนได้ทันที คือการแก้ไขการจ่ายผลตอบแทน โดยไม่แจ้งให้นายทะเบียนทราบ ส่วนการไม่วางหลักประกัน ในกรณีที่มีการจ่ายเงินให้ผู้บริโภคไปแล้ว สมมติ วางหลักประกัน ไว้ 5 แสนบาท จ่ายความเสียหายไป 1 แสนบาท ผู้ประกอบการต้องนำเงินมาเติมให้เต็ม 5 แสนบาท เท่าเดิม หากไม่กระทำอาจเป็นเหตุให้นายทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนได้ ซึ่งข้อกฎหมายทั้งหมดหลังพ.ร.บ. ประกาศใช้แล้ว ผู้ประกอบการทุกรายต้องปฏิบัติตาม
นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ยังกล่าวถึง ข้อบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดให้สมาชิกบริษัทขายตรงต้องแสดงบัตรประจำตัวสมาชิกทุกครั้ง เมื่อนำเสนอสินค้าต่อผู้บริโภคด้วยว่า ที่ผ่านมาได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายขายตรงและตลาดแบบตรง ปี 2545 แล้ว กรณีผู้จำหน่ายอิสระไม่แสดงบัตรประจำตัว จะมีโทษปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะผู้จำหน่ายอิสระบางคน นำสินค้าไปเสนอขายกับผู้บริโภค แล้วสินค้าไม่มีคุณภาพ ชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคไม่สามารถติดตามได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะยืนยันเพื่อการร้องเรียน คือบัตรประจำตัวผู้จำหน่ายอิสระ แม้ว่าที่ผ่านมาสคบ.ยังไม่เคยเปรียบเทียบปรับผู้จำหน่ายอิสระในกรณีนี้มาก่อน เนื่องจากยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น หรือยังไม่ร้ายแรงจนนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค
"บัตรสมาชิกนี้ต้องแสดงเมื่อมีการนำเสนอสินค้า ส่วนสมาชิกที่ซื้อกินซื้อใช้ ไม่ได้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายต่อผู้บริโภคจึงไม่เข้าข้อกำหนดกฎหมาย เนื่องจากต้องมีตัวกลาง คือมีผู้นำสินค้าไปเสนอขายให้ผู้บริโภค เพราะอย่าลืมว่ายังมีกรณีการสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้บริโภคด้วย ซึ่งก็มีบทโทษเช่นเดียวกัน เช่น ตื๊อเพื่อให้เขาซื้อสินค้า สิ่งที่ผู้บริโภคจะทราบคือดูจากบัตรประจำตัวว่าผู้จำหน่ายอิสระคนนี้เป็นใคร"
อย่างไรก็ตาม ข้อกฎหมายทั้งหมดนี้ บางส่วนยังต้องรอการออกกฎกระทรวง เพื่อกำหนดรายละเอียด รองรับ ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดจำนวนเงินวางประกัน การกำหนดว่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้เป็นธุรกิจตลาดแบบตรง รวมทั้งการบัญญัติว่า ธุรกิจใดเป็นธุรกิจขายตรง ส่วนการรายงานผลประกอบการ จะออกเป็นประกาศของคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง ซึ่งสามารถใช้บังคับได้ เพียงแต่ต้องรอการทำประชาพิจารณ์ ก่อนจะปรับแก้ตามข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย
"กฎกระทรวงต้องดำเนินให้แล้วเสร็จภายใน90 วันนับตั้งแต่พ.ร.บ.ใช้บังคับหรือนับต่อจาก 120 วัน และภายใน 1 ปี กฎหมายทุกอย่างจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมด"--จบ--
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 - 23 มิ.ย. 2560--