สาธารณสุขเมืองหมอแคน เตือนโรคพิษสุนัขบ้าพบได้ทั้งปี แนะประชาชนป้องกันถูกสุนัขกัดด้วยคาถา 5 ย.
Source - สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ (Th)
Tuesday, May 09, 2017 21:43
31269 XTHAI XETHIC XGOV SOC V%WIREL P%PRD
แพทย์หญิงศศิธร ตั้งสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น เตือนประชาชนถึงโรคพิษสุนัขบ้าว่าสามารถพบได้ตลอดทั้งปี ซึ่งโรคนี้ยังไม่มีทางรักษาให้หายได้หากได้รับเชื้อและมีอาการแล้วผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย ย้ำอากาศร้อนสุนัขหงุดหงิดโมโหง่าย แนะวิธีป้องกันการถูกสุนัขกัดด้วยหลัก 5 ย. อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง หากถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วนหรือเลีย ให้รีบล้างแผลให้สะอาดและพบแพทย์
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น เปิดเผยถึงข้อมูลสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ในพื้นที่รับผิดชอบ มีรายงานผลตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในหัวสุนัข (ผลบวก) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 21 เมษายน 2560 ทั้งสิ้น 46 หัว ที่จังหวัดร้อยเอ็ด 23 หัว จังหวัดกาฬสินธุ์ 11 หัว และจังหวัดมหาสารคาม 12 หัว ยังไม่พบหัวสุนัขให้ผลบวกที่จังหวัดขอนแก่น จากข้อมูลระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคเผิดเผยปีนี้ในประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว 3 ราย จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่ยังคงตรวจพบในสุนัขหลายพื้นที่ จึงยังคงต้องเฝ้าระวังและควรระลึกเสมอว่า "สุนัขทุกตัวอาจมีเชื้อพิษสุนัขบ้า" คนเลี้ยงสุนัขหรือแมวที่ปล่อยออกมานอกบ้านทุกตัวมีสิทธิ์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า แม้ว่าสุนัขจะได้รับฉีดวัคซีนป้องกันแล้วก็ตาม ประชาชนที่มีสัตว์เลี้ยงควรต้องเร่งรัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัขและแมว และขอความร่วมมือให้ช่วยสอดส่องดูแลสุนัขและแมว เนื่องจากระยะหลังพบว่า สัตว์เลี้ยงที่มีเจ้าของเป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้าในคนมากกว่าสุนัขจรจัด ผู้ปกครองควรดูแลอย่าให้บุตรหลานไปเล่นหรือคลุกคลีกับสุนัขและแมวแม้จะ มีเจ้าของก็ตาม
สำหรับคำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงต่อการถูกกัด หรือข่วนด้วย คาถา 5 ย. คือ 1. อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 2. อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือ ทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 3. อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4. อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร และ 5. อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่างๆ นอกบ้านที่ไม่มีเจ้าของ หรือไม่ทราบประวัติ หากถูกสัตว์กัดหรือข่วนให้รีบล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่หลายๆ ครั้งแล้วใส่ยาฆ่าเชื้อ จากนั้นไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทันที เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและควรมารับวัคซีนตามกำหนดเวลาอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเฝ้าระวังสุนัขหรือแมวที่มากัดเป็นเวลา 10 วัน หากสัตว์ตายระหว่างดูอาการ ให้แจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่เพื่อตัดหัวสุนัขส่งตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า และหากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรคโทร 1422
****************************************************** ข้อมูลจาก : สำนักโรคติดต่อทั่วไป/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค โทรศัพท์ ๐-๒๕๙๐-๓๘๕๗ เผยแพร่ : กลุ่มสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ ศูนย์รับข้อร้องเรียนสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ ๗ จ.ขอนแก่น หมายเลข ๐๔๓-๒๒๒๘๑๘-๙ ต่อ ๒๒๔ งานกฎหมาย http://odpc7.ddc.moph.go.th
ที่มา: www.thainews.prd.go.th