คำถามคำตอบอาเซียน (มีนาคม 2561)

30 2561

สำหรับชุด 10 คำถาม-คำตอบ ความรู้เกี่ยวกับอาเซียน ประจำเดือน มีนาคม 2561 นี้ ประสงค์ให้สาระความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับอาเซียนให้แก่ผู้สนใจ โดยสรรหาองค์ความรู้เกี่ยวกับประเทศสมาชิกของอาเซียน รวมทั้งภาพรวมของประเทศในภูมิภาคอาเซียนมานำเสนอ ดังนี้

          1. การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ใด

          คำตอบ   การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เป็นเวทีสำคัญด้านทรัพยากรน้ำระดับภูมิภาค เพื่อหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในลุ่มน้ำโขง ตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 (1995 Mekong Agreement) รวมถึงการตอบสนองเชิงนโยบายต่อสถานการณ์ของโลก ภูมิภาค และประเทศสมาชิก โดยล่าสุดมีกำหนดการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 (The 3rd Mekong River Commission Summit) ในวันที่ เมษายน 2561 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม) รัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจา (จีน เมียนมา) ผู้แทนรัฐบาลประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว

          2. ระบอบการปกครองของราชอาณาจักรกัมพูชา คือ ระบอบใด ?

                ตอบ ประเทศกัมพูชาเป็นราชอาณาจักรอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและพหุนิยม มีอธิปไตย รักสันติดํารงไว้ซึ่งความเป็นกลางและไม่ฝักใฝ่ ฝ่ายใด และมีระบบรัฐสภากัมพูชาเป็นระบบสภาคู่ (Bicameral System) ประกอบด้วยสภาแห่งชาติ (National Assembly) และวุฒิสภา (Senate)

          3. ประเทศใดในอาเซียนที่มีรูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐ

          ตอบ “มาเลเซีย” เป็นประเทศประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขภายใต้ รัฐธรรมนูญการปกครองอยู่ใน “รูปแบบสหพันธรัฐ” ซึ่งแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 13 รัฐ คือ ปะลิส เกตะห์ ปีนัง สลังงอร์ เนกรีเซม บิลัน มะละกา เประ ยะโฮร์ ปะหัง ตรังกานู กลันตัน ซาราวัก และซาบาห์ รวมทั้งดินแดนสหพันธ์อีก 3 ดินแดน คือ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองปุตราจายา และเกาะลาบวน โครงสร้างระบบรัฐสภาเป็นแบบ : สภาคู่ ประกอบด้วย 3 สถาบัน สมเด็จพระราชาธิบดี 
ในฐานะประมุขของรัฐ วุฒิสภาหรือสภาสูง สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่าง

          4. ตำแหน่งประมุขสูงสุดของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คือ ?

          ตอบ “ประธานประเทศ” ดํารงตําแหน่งประมุขสูงสุดของรัฐ และมีองค์กรบริหารหลักของรัฐ 4 องค์กร คือ สภาแห่งชาติ คณะรัฐบาล ศาลประชาชน และองค์การอัยการประชาชน

          5. อะไรคือหลักการของเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area)

          ตอบ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area) หรือ อาฟต้า (AFTA) เป็นข้อตกลงทางการค้า สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด มีหลักการ ดังนี้

          1. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในฐานะที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญเพื่อป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้าและการลดภาษีและอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี

          2. กลไกการลดภาษีที่สำคัญของ AFTA คือ ระบบ CEPT (Common Effective Preferential Tariff Scheme) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน กล่าวคือ การที่จะได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นจะต้องประกาศลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกันด้วย ทั้งนี้ CEPT ได้กำหนดให้สินค้าที่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีจะต้องมีสัดส่วนมูลค่าที่เกิดขึ้นในอาเซียน (ASEAN Local Content) อย่างน้อย 40% และสามารถคำนวณวัตถุดิบในอาเซียนแบบสะสม (Cumulative Rules of Origin) โดยกำหนดอัตราขั้นต่ำของวัตถุดิบเท่ากับ 20%

          6. เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนมีความสำคัญอย่างไร

          ตอบ เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network; AUN) เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1995 (พ.ศ.2538) โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของภูมิภาคและสร้างความสํานึกในความเป็นอาเซียนขึ้นโดยฝ่ายกลไกความร่วมมือทางด้านอุดมศึกษา  โดยมีการลงนามความตกลงเพื่อการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนขึ้น ฉบับ ได้แก่

          1. กฎบัตรเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Charter of The ASEAN University  Network)

          2. ข้อตกลงร่วมในการจัดตั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (Agreement on the Establishment of the ASEAN University Network)

7. กลุ่มประเทศ CLMV คือ ประเทศใดบ้าง

          ตอบ กลุ่มประเทศ CLMV ใน ASEAN CLMV คือ ประเทศกัมพูชา (Cambodia) ประเทศลาว (Laos) ประเทศพม่า (Myanmar) และประเทศเวียดนาม (Vietnam) ซึ่งเป็นประเทศในกลุ่ม ASEAN ที่มีแนวโน้มเศรษฐกิจโตต่อเนื่องและยังมีแร่ธาตุทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ และยังมีค่าจ้างแรงงานไม่สูงนัก กลุ่มประเทศ CLMV จึงเป็นประเทศที่มีคนสนใจเข้าไปลงทุนการผลิตและการตลาด แต่เนื่องด้วย CLMV นั้นมีพรมแดนติดกับไทยทุกประเทศจึงเหมาะมากที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนหรือหาลู่ทางทำธุรกิจ

8. ตามกฎบัตรอาเซียนในกรณีสมาชิกอาเซียนละเมิดกฎบัตรจะต้องดำเนินการอย่างไร

          ตอบ ในกรณีที่มีการละเมิดกฎบัตรอย่างร้ายแรง หรือไม่ปฏิบัติตาม ให้เสนอเรื่องกล่าวให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนเพื่อการตัดสินใจ (ข้อ 5 และข้อ 20)

9. คนไทยคนใดบ้างที่เคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียน

          ตอบ เลขาธิการอาเซียนได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) จากการเสนอชื่อของประเทศที่มีสิทธิในการเสนอชื่อผู้สมัครใช้หลักการเวียนตามตัวอักษรภาษาอังกฤษของประเทศสมาชิก ดํารงตําแหน่งได้เพียงหนึ่งสมัย ระยะเวลาการดํารงตําแหน่ง ปี และไม่สามารถต่อ อายุได้ (non-renewable term) โดยประเทศไทยมีคนไทยที่ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนแล้วถึง 2 คน คือ

1.      นายแผน วรรณเมธี ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 16 กรกฎาคม 2527 - 15 กรกฎาคม 2529

2.      ดร. สุรินทร์พิศสุวรรณ ดํารงตําแหน่งในช่วงปี 2551-2555 (ค.ศ. 2008-2012)

          10. เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันคือใคร

          ตอบ ดาโต๊ะ ปาดูกา ลิม จ๊อก ฮอย เป็นชาว บรูไน ดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ มกราคม 2561 -พ.ศ. 2565 (2018-2022)
 
                                                                                                                จัดทำโดย
                                                                                                           นายบุญสงค์ ลาคำ
                                                                                                ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัฒนากฎหมาย
                                                                                                     สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา