196730
( เริ่มนับ พฤษภาคม ๒๕๖๐ )
คำถาม-คำตอบอาเซียน
1. ถาม : ตามที่ได้กล่าวไว้ว่า การเปิดตลาดสินค้าของ RCEP มีจุดน่าสนใจอยู่ที่การลดภาษีสินค้าในกลุ่มที่ไม่เคยลดภาษีใน FTA ฉบับอื่นมาก่อน นั้น จะเป็นการเปิดโอกาสให้สินค้าไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นอย่างไร?
ตอบ ทางตรง: การลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าอ่อนไหว/อ่อนไหวสูงของประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ล้วนเปิดโอกาสให้แก่สินค้าศักยภาพของไทย ซึ่งก่อนหน้านี้สินค้ากลุ่มดังกล่าวยังคงมี
การจัดเก็บภาษีนำเข้าอยู่ แม้จะมี FTA ระหว่างอาเซียนกับคู่ภาคีหรือ Plus 5 (ประกอบด้วยอาเซียน-จีน อาเซียน-ญี่ปุ่น อาเซียน-เกาหลีใต้ อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์) ที่ได้ลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่
ไปตั้งแต่ปี 2553 แต่นับจากวันที่ 1 มกราคม 2565 ภายใต้กรอบ RCEP ภาษีนำเข้าในสินค้าดังกล่าวจำนวนมากจะลดอัตราเหลือ 0 ทันที ในขณะที่ยังมีหลายรายการที่จะทยอยลดภาษีจนเหลือร้อยละ 0 ในปีที่ 10 และปีที่ 20 และบางรายการก็ไม่ลดภาษี
ทางอ้อม: การรวมตัวเป็น RCEP ในอีกด้านหนึ่งทำให้ประเทศ Plus 5 ที่ไม่เคยมี FTA ต่อกัน ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ได้มี FTA ร่วมกันเป็นครั้งแรก ส่งผลให้สินค้าขั้นกลางของไทยที่ทำตลาดได้ดีอยู่แล้วมีโอกาสขยายตัว อาทิ ยานยนต์และชิ้นส่วน เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ดี การที่ Plus 5 มีแนวโน้มค้าขายกันเองจากการลดกำแพงภาษีระหว่างกันครั้งนี้คงไม่ส่งผลให้เกิด
การแย่งชิงตลาดกับสินค้าอาเซียนและสินค้าไทยที่ทำตลาดอยู่เพราะเป็นสินค้าคนละประเภทกัน
2. ถาม : สาธารณรัฐอินโดนีเซียได้ดำเนินการปฏิรูประบบราชการตามประกาศประธานาธิบดี
ในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) (The Presidential Regulation Number 81 of 2010) เพื่อมุ่งสู่การเป็นรัฐบาลที่มีมาตรฐานระดับโลกภายในปี พ.ศ. 2568 (ค.ศ. 2025) อยากทราบว่าในการปฏิรูประบบราชการดังกล่าวมีโครงการตามยุทธศาสตร์กี่โครงการ ประเด็นอะไรบ้าง?
ตอบ องค์การข้าราชการแห่งชาติ (National Civil Service Agency-NCSA) ได้ดำเนินการโครงการเร่งด่วนตามยุทธศาสตร์ 9 โครงการ เพื่อให้การปฏิรูประบบราชการพลเรือนสอดรับกับนโยบายรัฐบาลดังกล่าวในประเด็นต่อไปนี้
1) การปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการพลเรือน (Managing Bureaucratic Structure)
2) การสร้างเสถียรภาพให้แก่จำนวนข้าราชการพลเรือน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน (Managing the civil servants numbers distribution and their quality)
3) การปรับปรุงระบบสรรหาและคัดเลือก และระบบการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน (Open selection system for civil servants new entry and promotion)
4) การพัฒนาข้าราชการพลเรือนให้มีความเป็นมืออาชีพ (Civil servants professionalism)
5) การพัฒนาระบบรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (Developing the e-government system)
6) การอำนวยความสะดวกด้านการจดทะเบียนธุรกิจและการดำเนินการด้านธุรกรรมของภาคเอกชน (Simplifying the business licensing)
7) การดำเนินการด้านความโปร่งใสในเรื่องการรายงานทรัพย์สินของข้าราชการ (Reporting the assets of civil servants)
8) การปรับปรุงระบบสวัสดิการของข้าราชการพลเรือน (Increasing the welfare of civil servants)
9) การสร้างประสิทธิภาพในเรื่องการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ข้าราชการ (Efficiency in the civil servants facilities and infrastructure usage)
3. ถาม : BCG คืออะไร และมีประโยชน์อย่างไร?
ตอบ : Bio-Circular-Green Economy เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์สำคัญ หรือเป็นเมกะเทรนด์สำคัญของโลกที่ไม่ว่าภาครัฐและเอกชนในโลกนี้ต่างให้ความสำคัญ เพราะมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การปกป้องสิ่งแวดล้อม การลดปัญหาโลกร้อนที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลก
BCG Economy Model จะช่วยก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในหลายมิติ และหลายด้าน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ด้านเศรษฐกิจ ช่วยลดภาวะการว่างงาน และทำให้เกิดความก้าวหน้าด้านเกษตรอาหาร
ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร BCG Economy Model จะเข้าไปช่วย และทำให้
กลุ่มคนทุกระดับได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ ทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหาร
ด้านพลังงาน BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิม 16.5% ในปี 2562 เพิ่มเป็น 20%
ด้านสุขภาพ ในแต่ละปีประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางด้านสุขภาพจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มยา และเวชภัณฑ์ ในปัจจุบันทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมกำลังศึกษาเรื่องการผลิตยา เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง เพื่อลดการนำเข้ายาในอนาคต เช่นเดียวกับวัคซีนที่อยู่ในขั้นการทดลอง เพื่อนำมาใช้จริง
ด้านความยั่งยืน เรื่องของทรัพยากรธรรมชาติ คาดหวังว่าเมื่อทำ BCG ได้แล้ว
จะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลงไป อีกทั้งยังสามารถลดมลพิษ เช่น PM 2.5 ขยะ น้ำเสีย
การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ดูแลสัตว์สูญพันธุ์
ด้านการท่องเที่ยว ในรูปแบบเดิมอาจทำให้ธรรมชาติสึกหรอ แต่เมื่อมีการวางแผน
การท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการดูแลธรรมชาติ จะทำให้รูปแบบการท่องเที่ยวเกิดความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
4. ถาม : กฎหมายของประเทศสิงค์โปรที่ชาวต่างประเทศต้องทราบมีอะไรบ้าง?
ตอบ : 1. ห้ามนำเข้า ขาย และเคี้ยวหมากฝรั่ง หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษเช่นเดียวกับเรื่อง
การทิ้งขยะ
2. การครอบครอง การเสพ การผลิต การนำเข้า การส่งออก การจำหน่าย ยาเสพติด ล้วนแต่เป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศสิงคโปร์ และมีบทลงโทษที่รุนแรง ตั้งแต่การเฆี่ยน จำคุก และประหารชีวิต จึงไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งทางตรงและทางอ้อม
3. ประเทศสิงคโปร์มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น สวนสนุก
ศูนย์อาหาร โรงภาพยนตร์ โรงพยาบาล ห้องสมุด โรงแรม โรงเรียน ลิฟต์ สนามบิน ฯลฯ หากจะสูบบุหรี่ต้องไปสูบในพื้นที่ที่จัดไว้ให้เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะมีป้ายบอกไว้ในบริเวณนั้น ๆ การฝ่าฝืนสูบบุหรี่ ในที่ห้ามสูบ มีโทษปรับเป็นเงินตั้งแต่ 200-1,000 เหรียญสิงคโปร์ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 5,000-25,000 บาท
นอกจากนี้บุคคลที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามซื้อ สูบ หรือมีบุหรี่ ไว้ในครอบครอง เพราะผิดกฎหมาย หากเจ้าหน้าที่รัฐตรวจพบจะถูกปรับเป็นเงิน 300 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 7,500 บาท)
4. บุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามซื้อดื่มหรือมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น สุรา เบียร์
ไว้ในครอบครอง เพราะผิดกฎหมายสิงคโปร์ หากฝ่าฝืนและถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับได้ มีโทษปรับเป็นเงินสูงสุด 5,000 เหรียญสิงคโปร์ (ประมาณ 125,000 บาท)
5. ค่าปรับในรถไฟฟ้า MRT
ห้ามสูบบุหรี่บนรถไฟฟ้า หากฝ่าฝืนปรับ 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์
ห้ามนำอาหารหรือเครื่องดื่มต่าง ๆ ขึ้นมารับประทาน หากฝ่าฝืน ปรับ 500
ดอลลาร์ห้ามนำวัตถุไวไฟขึ้นรถไฟฟ้า หากฝ่าฝืนปรับ 5,000 ดอลลาร์
ห้ามนำทุเรียนขึ้นรถไฟฟ้า
5. ถาม : Soft Power คืออะไร ? ประเทศไทยมีการใช้ Soft Power ผ่านทางใดบ้าง?
ตอบ : Soft Power คือ อำนาจโดยปราศจากกำลังทางทหาร (Non-military power) ไม่ว่าจะเป็นอำนาจทางวัฒนธรรม ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ แต่หากนิยามความหมายให้แคบลง ก็คืออิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ความนิยมชมชอบ มุมมอง แนวคิดของผู้คน และมีส่วนดึงดูดให้ผู้คนเหล่านั้นรู้สึกมีส่วนร่วมกับวัฒนธรรมของอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งแต่ละประเทศก็จะมี Soft Power ที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง
สำหรับประเทศไทยใช้ soft power ในทางการทูต โดยเฉพาะ การทูตวัฒนธรรม และ การทูตสาธารณะ ผ่านภูมิปัญญา สินค้าและบริการ อาจมีหลากมิติและรูปแบบแตกต่างกัน ดังนี้
1. นิสัยใจคอคนไทยทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศมีพื้นฐานจากความเป็นมิตร
มีเมตตา เปิดกว้างและยอมรับความแตกต่าง การต้อนรับขับสู้และทัศนคติที่รักสนุกเรียบง่ายที่มีให้
คนต่างชาติ
2. วัฒนธรรมไทย ที่ผสมผสานจากวัฒนธรรมไทยดั้งเดิมและอิทธิพลของต่างชาติ
มีความลึกและหลากหลาย เช่น ภาษา ดนตรีและศิลปะการแสดง ละครและภาพยนตร์ร่วมสมัย หัตถกรรมและผ้าไทย กีฬาไทยและกีฬาพื้นบ้าน
3. การท่องเที่ยวไทย ก็มีชื่อเสียงมานานและมีนักท่องเที่ยวมากถึงเกือบ 40 ล้านคน
ต่อปีก่อนโควิด-19 เพราะลักษณะของประเทศไทยที่กล่าวข้างต้น แต่ทำเลที่ตั้งและแหล่งท่องเที่ยว
ของประเทศก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เสริมการท่องเที่ยวด้วย
4. ด้านอาหารไทย ก็ไม่น้อยหน้าชาติใดในโลก CNN Travel จัดอันดับให้มัสมั่น ต้มยำกุ้ง และส้มตำ ติดอันดับ 50 รายการอาหารที่ดีที่สุดในโลกต่อเนื่องกันหลายปี
5. การทูตเศรษฐกิจ การทูตวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การทูตดิจิทัล รวมถึงการทูตวัคซีน รวมทั้งการมีระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพล้วนมีศักยภาพสูง
6. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็น soft power ที่กรมความร่วมมือระหว่างประเทศและภาคส่วนพันธมิตรรวมถึงภาคเอกชนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศได้ดำเนินการมาหลายทศวรรษ สร้างมิตรภาพให้ประเทศไทยไม่ใช่เฉพาะในประเทศเพื่อนบ้าน แต่รวมถึงประเทศในแปซิฟิก เอเชียใต้และแอฟริกา
นายทศวิณหุ์ เกียรติทัตต์
วิทยากรชำนาญการพิเศษ