196724
( เริ่มนับ พฤษภาคม ๒๕๖๐ )
คำถาม-คำตอบอาเซียน
1. ถาม : ASEAN Corporate Governance Scorecard (ACGS) คืออะไร?
ตอบ : การประเมินการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำกับดูแลกิจการของ ASEAN Capital Markets Forum (ACMF) หรือที่เรียกว่า ACMF Corporate Governance Initiatives โดยเป็นการเปิดเผยระดับคุณภาพการกำกับดูแลกิจการของบริษัทจดทะเบียนในภูมิภาคอาเซียน
สำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Scorecard นี้ คือ ศูนย์พัฒนาการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (กลต.)
2. ถาม : การประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 33 ประเทศใดเป็นเจ้าภาพในการจัด และมีข้อสรุปอย่างไร?
ตอบ : การประชุมหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) ระดับเลขาธิการ ครั้งที่ 33 เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 นั้น มีหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมผ่าน VDO Conference Call โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในอาเซียน ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) และสำนักเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วย
การประชุมดังกล่าวมีข้อสรุปดังนี้ คือ ที่ประชุมได้ร่วมหารือทิศทางเชิงนโยบายและผลักดันการดำเนินงานของคณะทำงานต่าง ๆ ภายใต้ ACMF ให้สอดคล้องกัน อันจะนำไปสู่การยกระดับมาตรฐาน ดึงดูดการลงทุนและเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงได้เห็นชอบต่อข้อสรุปของแผนปฏิบัติการเชื่อมโยงตลาดทุนอาเซียนระหว่างปี 2564-2568 (ACMF Action Plan 2021-2025) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาตลาดทุนให้ฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืน มีความครอบคลุมทุกภาคส่วน และมีความยืดหยุ่นพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างมีแบบแผน โดยจะรายงานและ
ขอความเห็นชอบในที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนครั้งถัดไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานที่สำคัญเพื่อส่งเสริม
ให้การเกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ ความคืบหน้าของแผนงานที่จะเริ่มดำเนินการก่อนในระยะ 5 ปีแรก (key priorities) ภายใต้ ACMF Roadmap for ASEAN Sustainable Capital Market การริเริ่มสร้างความร่วมมือกับ Climate Bond Initiative เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือทางวิชาการในการพัฒนาแนวทางส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน และการหารือถึงแนวทางการศึกษาและพัฒนา green, sustainable, and transitional ASEAN taxonomy โดยสำนักงาน ก.ล.ต. ได้นำเสนอต่อที่ประชุม
เพื่อขอให้สมาชิกพิจารณาส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนตระหนักถึงประเด็น Business and Human Rights ตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs) ด้วย
3. ถาม : ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มติเห็นชอบต่อร่างกรอบความร่วมมือของอาเซียน
เพื่อส่งเสริมการรับรู้ เข้าถึง และใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล (Framework for Promoting Accessibility for All in ASEAN Digital Broadcasting) และอนุมัติให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนของไทยรับรองร่างกรอบความร่วมมือของอาเซียนเพื่อส่งเสริมการรับรู้ เข้าถึง และใช้ประโยชน์ข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อโทรทัศน์ดิจิทัล แบบเวียน (Ad-referendum) นั้น อยากทราบว่ากรอบความร่วมมือดังกล่าวมีสาระสำคัญอย่างไร?
ตอบ : สาระสำคัญของร่างกรอบความร่วมมือดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนในการส่งเสริมบริการโทรทัศน์เพื่อการเข้าถึงสำหรับคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะคนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบาง และเสริมสร้างความร่วมมือ การพัฒนา และ
ความมุ่งมั่นในการให้บริการโทรทัศน์เพื่อการเข้าถึงของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งประชาคมอาเซียน
ให้ความสำคัญกับการพัฒนากับการพัฒนาคุณภาพชีวิตในการสร้างประชาสังคมที่เข้มแข็งและครอบคลุม โดยมุ่งส่งเสริมการให้บริการโทรทัศน์เพื่อการเข้าถึง ได้แก่ คำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption) เสียงบรรยายภาพ (Audio Description) และภาษามือ (Sign Language Interpretation)
4. ถาม : ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรตามความตกลงภายในเขตการค้าเสรีอาเซียนสำหรับปี พ.ศ. 2564 ถึงปี พ.ศ. 2566 พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ มีสาระสำคัญอย่างไร?
ตอบ : 1. กำหนดให้ข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามพิกัดอัตราศุลกากรประเภทย่อย 1005.90.90 ซึ่งมีถิ่นกำเนิดและส่งตรงมาจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน เป็นสินค้าที่ต้องมีหนังสือรองรับถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) หนังสือรับรอง ใบรับรอง หรือเอกสารอื่นใด ซึ่งแสดงว่าสินค้าที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นสินค้าที่มีความปลอดภัยต่อชีวิต หรือสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ หรือพืช
2. กำหนดให้การนำสินค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรที่จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีศุลกากรต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้
2.1 กรณีองค์กรคลังสินค้าเป็นผู้นำเข้า ต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 3 ธันวาคม ของแต่ละปี และต้องจัดทำแผนการจัดซื้อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการผลิต การตลาด ภาวะราคา และความต้องการใช้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อราคาผลผลิตในประเทศ
2.2 กรณีผู้นำเข้าทั่วไป ต้องนำเข้าระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 สิงหาคม ของแต่ละปี และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดมาตรฐานควบคุมการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์
2.3 ต้องนำเข้าทางด่านศุลกากรที่มีด่านตรวจพืชและด่านกักสัตว์ หรือมีเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจของด่านดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่
3. กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมพิเศษ สำหรับการนำข้าวโพดที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามข้อ 1. เข้ามาในราชอาณาจักร ในอัตราน้ำหนักสุทธิเมตริกตันละศูนย์บาท
4. กำหนดให้ประกาศนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป
(ที่มา: ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2563)
5. ถาม : RCEP คืออะไร และประเทศไทยได้อะไร
ตอบ : RCEP หรือ "อาร์เซ็ป" มีชื่อเต็มว่า Regional Comprehensive Economic Partnership ในความหมายภาษาไทยว่า ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งภูมิภาคที่ว่านั้นก็คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่รวมกันกว่า 15 ประเทศ ได้แก่ 10 ประเทศจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ "อาเซียน" (ASEAN), ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ รวมถึง จีน, ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
นายทศวิณหุ์ เกียรติทัตต์
วิทยากรชำนาญการพิเศษ