196736
( เริ่มนับ พฤษภาคม ๒๕๖๐ )
คำถาม-คำตอบอาเซียน
1. ถาม : GMS คืออะไร?
ตอบ : กรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion) หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยจะครอบคลุมเนื้อที่ 2.34 ล้านตารางกิโลเมตร มีประชากรรวม 257.5 ล้านคน โดยโครงการนี้มีชื่อเต็มว่า GMS Economic Corridors หรือก็คือ ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน, ยกระดับการครองชีพ, การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน, การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน คือ สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค (Community)
2. ถาม : แนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบ GMS เป็นเช่นไร?
ตอบ : แนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบ GMS ประกอบด้วย
1. โครงการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือ GMS ในปัจจุบันส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 แนว คือ แนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors), แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และแนวใต้ (Southern Economic Corridor)
2. ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเงินทุนและวิชาการของการพัฒนาโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ GMS
โดยการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (RETA 6450: Enhancing Transport and Trade Facilitation in GMS) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง โดยเน้น 4 เรื่องหลัก ๆ คือ
(1) การสร้างความเข้มแข็งด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS)
(2) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระดับประเทศและอนุภูมิภาค GMS เพื่อลดอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบ และต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายและเวลา
(3) การจัดตั้งองค์กร/สถาบันผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้า
(4) การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในอนุภูมิภาค
3. ถาม : หากจะกล่าวถึงแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนที่มีอัตราการขยายตัว
ที่สูงขึ้น อยากทราบว่าแนวโน้มการขยายตัวดังกล่าวมาจากปัจจัยหนุนอะไรบ้าง?
ตอบ : ปัจจัยหนุนที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัว ได้แก่
(1) พฤติกรรมผู้บริโภคอาเซียนที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งนับเป็นโอกาสในการขยาย
การลงทุน
(2) กำลังซื้อของประชากรที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของความเป็นเมือง (Urbanization)
(3) การขยายตัวของภาคธุรกิจท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน
4. ถาม : การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 33 (33rd ASEAN-US Dialogue)
จะจัดขึ้นเมื่อใด และมีประเด็นสำคัญอะไร?
ตอบ : การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-สหรัฐฯ ครั้งที่ 33 (33rd ASEAN-US Dialogue) จะจัดขึ้นในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 โดยเป็นการประชุมผ่านระบบทางไกล ซึ่งที่ประชุมจะหารือประเด็นสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ รวมถึงความร่วมมือในกรอบอาเซียน-สหรัฐฯ ในมิติต่าง ๆ เพื่อรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ และการรับมือกับการแพร่ระบาด
ของโควิด-19 ทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุข การส่งเสริมการค้าและการลงทุน ความเชื่อมโยงในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการพัฒนาทุนมนุษย์
5. ถาม : กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ของเวียดนามมีบัญญัติเกี่ยวกับการตรวจลงตราเข้าพำนักของนักลงทุนชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนามเพื่อดำเนินกิจกรรมตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่เวียดนามได้ลงนามไว้อย่างไร?
ตอบ : กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ของเวียดนามได้บัญญัติการตรวจลงตราประเภทใหม่ สําหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนาม เพื่อดําเนินกิจกรรมตามความตกลงระหว่างประเทศ
ที่เวียดนามได้ลงนามแล้ว ซึ่งจะช่วยอํานวยความสะดวกในการปรับใช้ความตกลงระหว่างประเทศรายการใหม่ เช่น ความตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป เวียดนาม (EVFTA) และความตกลงคุ้มครองการลงทุนสหภาพยุโรป เวียดนาม (EVIPA) ทั้งนี้ เวียดนามจะพิจารณาการตรวจลงตราระยะเวลาเข้าพำนักระหว่าง 6 12 เดือน สําหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าเวียดนาม เพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว
นอกจากนี้ สําหรับผู้ลงทุนทางยุทธศาสตร์ที่เป็นชาวต่างชาติที่มีการลงทุนในเวียดนามตั้งแต่ 100,000 ล้านด่ง (ประมาณ 4.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ขึ้นไป จะได้รับการตรวจลงตราเข้าพำนักเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี และได้รับบัตรเข้าพํานักชั่วคราว (temporary residence card) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี
โดยกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับเดิมกำหนดให้ นักลงทุนต่างชาติทุกรายในเวียดนามสามารถได้รับการตรวจลงตราเข้าพำนักเป็นระยะเวลา 5 ปี โดยไม่คำนึงถึงมูลค่าการลงทุน ขณะที่กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่ได้แก้ไขให้นักลงทุนต่างชาติจะได้รับการตรวจลงตราเข้าพำนัก
เป็นระยะเวลา 12 เดือน และจะไม่ออกบัตรเข้าพำนักชั่วคราวให้นักลงทุนต่างชาติที่มีมูลค่าการลงทุน
ในเวียดนามต่ำกว่า 3,000 ล้านด่ง (ประมาณ 130,400 ดอลลาร์สหรัฐ) นอกจากนี้ ยังได้ยกเลิกข้อกำหนดเดิมเกี่ยวกับพลเมืองของ 13 ประเทศที่เวียดนามยกเว้นการตรวจลงตรา เมื่อเดินทางออกจากเวียดนามแล้ว ต้องรอ 30 วัน จึงจะสามารถเดินทางเข้าเวียดนามใหม่ได้
อีกทั้งกฎหมายยังกำหนดให้พลเมืองจาก 13 ประเทศ ได้แก่ เบลารุส เดนมาร์ก ญี่ปุ่น นอร์เวย์ อิตาลี ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส รัสเซีย เกาหลีใต้ สเปน สวีเดน เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ไม่ต้องยื่นขอรับการตรวจลงตราเมื่อเดินทางเข้าเวียดนาม โดยกฎหมายตรวจคนเข้าเมืองฉบับใหม่นี้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 เป็นต้นไป
นายทศวิณหุ์ เกียรติทัตต์
วิทยากรชำนาญการพิเศษ