197101
( เริ่มนับ พฤษภาคม ๒๕๖๐ )
คำถาม-คำตอบอาเซียน 1. ถาม : การประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ และการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2563 มีสาระสำคัญอะไรบ้าง? ตอบ : การประชุมสุดยอดอาเซียน สมัยพิเศษ และกาประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) มีสาระสำคัญดังนี้ คือ 1. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุข 2. การบรรเทาผลกระทบและการเตรียมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจและสังคม 3. การให้ความช่วยเหลือคนชาติอาเซียน โดยให้อิงแนวปฏิบัติอาเวียนว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉินโดยคณะทูตของประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศที่สามแก่คนชาติ ของประเทศสมาชิกอาเซียนในสถานการณ์วิกฤต 4. การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในอนาคต 2. ถาม : ประเทศคู่เอฟทีเอในอาเซียนประเทศใดที่ไทยส่งออกมังคุดเป็นตลาดหลัก? มีส่วนแบ่งตลาดเท่ากี่เปอร์เซ็นต์? และประเทศคู่เอฟทีเอในอาเซียนประเทศใดยังคงเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากประเทศไทย? ตอบ ประเทศคู่เอฟทีเอในอาเซียนที่ประเทศไทยส่งออกมังคุดเป็นตลาดส่งออกหลักในอาเซียน โดยมีส่วนแบ่งตลาด 94% ของการส่งออกไปอาเซียน คือ ประเทศเวียดนาม ส่วนประเทศคู่เอฟทีเอในอาเซียนที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้ามังคุดจากไทย คือ กัมพูชา มาเลเซีย และลาว (อัตราภาษีนำเข้า 5%) 3. ถาม : การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 22 จะมีขึ้นเมื่อใด และวัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้คือ? ตอบ : การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียน-อินเดีย ครั้งที่ 22 เป็นการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม 2563 ปัจจุบันประเทศไทยรับหน้าที่ประเทศ ผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-อินเดีย (วาระปี ค.ศ. 2018 - 2021) วัตถุประสงค์ของการประชุมครั้งนี้ คือ การกำหนดทิศทางความร่วมมือระหว่างอาเซียน-อินเดียในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน สังคมวัฒนธรรม และการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างประชาชนของทั้งสองฝ่าย โดยการประชุมฯ ครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายจะแลกเปลี่ยนข้อมูลในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งความร่วมมือด้านสาธารณสุขรวมถึงการพัฒนายาและวัคซีน การช่วยเหลือคนชาติระหว่างกันในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข การบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อประชาชนและภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่าย รวมถึงหารือการจัดทำแผนปฏิบัติการอาเซียน-อินเดีย ค.ศ. 2018 - 2021 ที่จะเป็นการวางแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนและอินเดียในอีก 5 ปีข้างหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคหลังโควิด-19 4. ถาม : วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 นั้น เกิดจากอะไร? ตอบ : วิสัยทัศน์อาเซียน 2020 นั้น เกิดจากคำประกาศของผู้นำรัฐและหัวหน้ารัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียนเมื่อคราวการประชุมสุดยอดอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่สอง ในโอกาสครบรอบ 30 ปี ของอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม ค.ศ. 1997 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อกำหนดเป้าหมายวิสัยทัศน์ของอาเซียน ในการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมองว่า ณ ขณะนั้นอาเซียนมีความพร้อมแล้ว ทั้งด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจ เสถียรภาพทางการเมืองภายในประเทศ ความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศและความเติบโตก้าวหน้าทางสังคม ด้วยความมั่นใจในความแข็งแกร่งและศักยภาพของตนเช่นนั้น 5. ถาม : เหตุใดอาเซียนจึงตั้งเป้าหมายกับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprise: SMEs) และวิสาหกิจรายย่อย (Micro-Enterprise) เป็นรากฐานในการขับเคลื่อนประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ตอบ : เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ จากการศึกษาขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ในปี 2559 พบว่า SMEs มีบทบาทสำคัญในการจ้างงานสูงถึง 63% ของการจ้างงานในกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) นายทศวิณหุ์ เกียรติทัตต์ วิทยากรชำนาญการพิเศษ