196722
( เริ่มนับ พฤษภาคม ๒๕๖๐ )
คำถาม-คำตอบอาเซียน 1. ถาม : เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนคืออะไร? และมีวัตถุประสงค์อย่างไร? ตอบ : เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network : AUN) เป็นความร่วมมือของสถาบันอุดมศึกษาระหว่างประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ย. 2538 รวมทั้งสิ้น 13 สถาบัน ปัจจุบันสมาชิกของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนเพิ่มจำนวนเป็น 27 สถาบัน วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยอาเซียน คือ 1) การส่งเสริมการสร้างความตระหนักในความเป็นอาเซียน 2) การเพิ่มการเข้าถึงคุณภาพการศึกษา 3) การยกระดับคุณภาพการศึกษา มาตรฐานการปฏิบัติงาน การเรียนรู้ และการพัฒนาวิชาชีพชั้นสูง 4) การสร้างความเข้มแข็งให้กับการเคลื่อนย้ายพรหมแดน และความเป็นสากลของการศึกษา 5) การให้การสนับสนุนและส่งเสริมแก่ภาคส่วนงานอื่น ๆ 2. ถาม : CLMV และ CLMVT คืออะไร? ประกอบด้วยประเทศใดบ้าง? และเหตุใด CLMV จึงได้รับความสนใจจากนักลงทุน? ตอบ : ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า CLMV คือ กลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Great Mekong Subregion: GMS) ที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน ได้แก่ กัมพูชา (Cambodia) ลาว (Laos) เมียนมาร์(Myanmar) เวียดนาม (Vietnam) และในส่วนของ CLMVT คือ CLMV ที่เพิ่มประเทศไทยเป็นประเทศที่ 5 สำหรับเหตุผลที่ทำให้ CLMV ได้รับความสนใจจากนักลงทุนในปัจจุบัน จะประกอบด้วยเหตุปัจจัยหลัก ดังนี้ 1) โอกาสในการลงทุน ประเทศในกลุ่ม CLMV ในปัจจุบันยังต้องอาศัยสินค้านำเข้าหลาย ๆ ประเภทจากประเทศไทยและประเทศจีน ซึ่งที่ผ่านมาผลตอบรับของสินค้าไทยถูกมองว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ คุ้มราคากว่าสินค้าจากประเทศจีน 2) สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ทั้ง 4 ประเทศเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่ม ASEAN ทำให้การลงทุนหลาย ๆ อย่าง ในประเทศเหล่านั้นสามารถใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีได้ 3) ความสะดวกด้านการคมนาคม เนื่องจากประเทศในกลุ่ม CLMV เป็นประเทศอยู่อยู่ติดโดยรอบประเทศไทย และมีเส้นทางการขนส่งที่สะดวก ทำให้การขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศ CLMV สามารถทำได้อย่างสะดวกผ่านการขนส่งทางบก 4) ค่าแรงถูก ประเทศในกลุ่ม CLMV เป็นประเทศที่มีค่าแรงขั้นต่ำที่ค่อนข้างถูก จากรายงานของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศในกลุ่ม CLMV ทั้ง 4 ประเทศ เมื่อเทียบเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ จะต่ำกว่า ๕ ดอลลาร์ต่อวัน 5) วัฒนธรรมที่ใกล้เคียง จากการที่วัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนในกลุ่ม CLMV และ CLMVT ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ทำให้นักลงทุนไม่ต้องปรับตัวมากนักกับพฤติกรรมผู้บริโภค และง่ายกว่าการเข้าไปลงทุน ในประเทศที่ใกล้เคียง เพราะไม่ต้องทำการตลาดเพิ่มเติม 3. ถาม : การค้าเสรี DOI MOI คืออะไร? และมีนโยบายสำคัญอย่างไร? ตอบ : นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ DOI MOI (Renovated Policies) ของเวียดนามที่ประกาศใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 ซึ่งสร้างแรงสั่นสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาค การส่งออกซึ่งได้มีการลดหรือยกเลิกภาษีศุลกากรเป็นจำนวนมาก ภาคเอกชนได้รับอนุญาตให้มีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตและส่งออกมากขึ้น ประกอบกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ให้สอดรับกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น สถิติจาก Worlds Top Export ระบุว่าในปี พ.ศ. 2561 เวียดนามเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับที่ 3 ของโลกรองจากอินเดียและไทย สร้างมูลค่ากว่า 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับหัวใจของนโยบาย DOI MOI คือการผสมผสานระหว่างการเปิดเสรี (Liberalization) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสภาบัน (Institutional Reform) และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Reform) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการส่งออก ส่งเสริมการลงทุนโดยภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจเวียดนาม ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคุมเงินเฟ้อ และอนุญาตให้ชาวเวียดนามสามารถถือครองที่ดินได้ เป็นต้น 4. ถาม : สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนใด? และประเทศจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง? ตอบ : สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 คือ สะพานข้ามแม่น้ำเมย เป็นถนนเชื่อมต่อทั้ง 2 ฝั่ง โดยจะมีอาคารด่านฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้หน่วยงานที่มีภารกิจรับผิดชอบการตรวจผ่านแดน เข้ามาใช้ เช่น กรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กรมปศุสัตว์ ซึ่งสะพานนี้ส่วนหนึ่งของโครงการ ทางเลี่ยงเมืองแม่สอด มีจุดเริ่มต้นบนทางหลวงหมายเลข 12 (ตาก-แม่สอด) ข้ามแม่น้ำเมย และตองยิน ที่บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ในฝั่งไทย จากนั้นเข้าสู่บ้านเยปู หมู่ที่ 5 เมืองเมียวดี จ.เมียวดี ฝั่งเมียนมา บรรจบกับถนนสายเมียวดี-กอกะเร็ก เมื่อแล้วเสร็จจะเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียหมายเลข 1 โดยรัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือทางการเงินแบบให้เปล่า 1,000 ล้านบาท ก่อสร้างในพื้นที่เมียนมา สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเชื่อมการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก จะเชื่อมโยงการขนส่งสินค้า การเดินทาง การท่องเที่ยว เพิ่มศักยภาพการค้าการลงทุน 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ เมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม เป็นเส้นทางขนส่งจากทะเลอันดามันไปสู่ทะเลจีนใต้ เปิดประตูการค้าการลงทุนจากเมืองดานังสู่เมาะลำไย ไปยังภูมิภาคอื่นทั้งจีน อินเดีย และบังกลาเทศ หลังเปิดใช้สะพานแล้ว คาดว่าจะส่งเสริมการขนส่งสินค้าและเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศ มีมูลค่าเพิ่ม 5-8% มีประชาชนและรถขนส่งสินค้าจำนวนมากวิ่งผ่านด่านพรมแดนแม่สอด ทำให้มูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 ล้านบาทต่อปี และปริมาณรถที่วิ่งผ่านจะเพิ่มขึ้นอีก 10% จากในปี 2561 มีมูลค่า ด่านพรมแดนแม่สอด อยู่ที่ 78,000 ล้านบาท มีรถวิ่งผ่าน 230,000 คันต่อปี 5. ถาม : ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมีประเทศใดบ้าง? และมีการเก็บที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร? ตอบ : ประเทศในอาเซียนที่มีการใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่ ประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์จัดเก็บในอัตราร้อยละ 7 ประเทศลาว กัมพูชา อินโดนิเซีย และเวียดนาม จัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ประเทศฟิลิปปินส์ จัดเก็บในอัตราร้อยละ 12 ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ส่วนมาเลเซียได้มีการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วในปี 2561 แต่จัดเก็บเป็นภาษีสินค้าและบริการ (SST : Sale Tax and Service Tax) แทน ซึ่งในปัจจุบันภาษีสินค้าที่ใช้บังคับสำหรับการขายสินค้าที่ผลิตในมาเลเซีย และสินค้าที่นำเข้ามาในมาเลเซีย อัตราภาษีสินค้า คือ ร้อยละ 5 และ 10 ส่วนภาษีบริการใช้บังคับสำหรับการบริการที่กฎหมายกำหนดให้เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีบริการโดยอัตราภาษีบริการ คือร้อยละ 6 ซึ่งก็ถือว่าต่ำกว่าภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศสมาชิกอื่น ๆ ในขณะเดียวกันเมียนมา เป็นอีกประเทศที่ไม่ได้ใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มแต่จัดเก็บในรูปภาษีสินค้าและบริการ (Commercial Tax) ซึ่งอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 5 สำหรับประเทศบรูไนไม่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม นายทศวิณหุ์ เกียรติทัตต์ วิทยากรชำนาญการพิเศษ